ผศ.ดร.อาณดี นิติธรรมยง อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยหันมาสนใจการดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงมีการค้นคว้าหาพืชที่มีประโยชน์
โดยดูจากวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนที่พบว่าเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังน้อยและส่วนใหญ่มีสุขภาพดี จึงสนใจเมล็ดพืชพื้นฐานที่คนยุคก่อนรับประทานเป็นอาหารและมีข้อมูลดีกับสุขภาพ เช่น ควินัว และเมล็ดเชีย
จึงทำให้ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเกิดกระแสนิยมการรับประทาน “ควินัว” และ “เมล็ดเชีย” เพราะถือเป็นอาหารโบราณที่มีการรับประทานกันมานาน แต่พืชทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่ใช่พืชเขตร้อนที่พบในแถบประเทศไทย ส่วนใหญ่จะพบทางอเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ โดยองค์ประกอบของพืชทั้ง 2 ชนิด จะมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ
“ความจริงแล้ว ควินัว และเมล็ดเชีย ก็ไม่ได้ต่างจากธัญพืชของไทย เช่น ธัญพืชหลากสี
ข้าวไรซ์เบอร์รี ลูกเดือย ถั่วแดง ถั่วดำ เป็นต้น เพราะสารอาหารก็มีไม่แตกต่างกัน เรียกได้ว่าทั้งควินัว
และเมล็ดเชีย ก็ไม่ได้พิเศษไปกว่าธัญพืชของไทย จนต้องหันไปรับประทาน แต่ที่คนไทยสนใจ ควินัวและเมล็ดเชีย เพราะมีการวิจัยคุณค่าทางโภชนาการเรื่องสารอาหาร
แต่ส่วนใหญ่ธัญพืชของไทยยังไม่มีการทำวิจัยเท่านั้น ทำให้ไม่นิยมรับประทาน” ผศ.ดร.อาณดี กล่าว
ผศ.ดร.อาณดี กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องไปตื่นตัวตามกระแส และหลักสำคัญในการรับประทานอาหารคือ ไม่ควรไปคิดว่าจะมีพืชหรืออาหารชนิดเดียวที่จะสามารถเป็นยาครอบจักรวาล แต่ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากชนิด เพราะนอกจากจะให้ประโยชน์ทางแง่โภชนาการและสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ ก็ยังจะช่วยลดความเสี่ยงจากสารตกค้างจากอาหารบางชนิดได้อีกด้วย จริง ๆ ทั้งควินัว และเมล็ดเชีย หากอยากทดลองรับประทานก็สามารถทานได้ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อรับประทานทุกวัน เพราะมีราคาสูง แต่สามารถรับประทานกันได้เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศและรสชาติ