ในสมัยก่อนนั้นการจัดงานศพ ยังไม่มีการฉีดยา หรือยังไม่มีวิธีการที่จะรักษาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็น ดังนั้น ในการเผาศพ จึงต้องใช้ดอกไม้จันทน์ซึ่งทำมาจากไม้จันทน์ อันเป็นไม้ที่มีกลิ่นหอม
ซึ่งในสมัยก่อนจะนิยมใช้ดอกไม้จันทน์ควบคู่กับธูปทองและเทียนทอง เพราะเชื่อว่ากลิ่นหอมของดอกไม้จันทน์จะนำดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปสู่สวรรค์ แต่การใช้ดอกไม้จันทน์สมัยก่อนจำกัดในวงแคบ ใช้เฉพาะผู้มีตระกูลสูงเท่านั้น สามัญชนจะใช้ไม่ได้ เพราะดอกไม้จันทน์เป็นของสูง ต้องห้าม และมีราคาแพง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากดอกไม้จันทน์เริ่มหายากขึ้น กรมพระยาดำรงราชนุภาพจึงได้คิดค้นให้ใช้ไม้จันทน์ทำเป็นแผ่นบางๆ มัดเป็นช่อเรียกว่าดอกไม้จันทน์เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานศพได้นำไปวางที่เผาศพ ต่อมาจึงแผ่ขยายการใช้ดอกไม้จันทน์ในหมู่สามัญชน เนื่องจากไม้จันทน์นั้นหายากและไม่มี
จึงมีการนำไม้โมกมาทำแผ่นบางๆ เป็นดอกไม้จันทน์เทียม และเริ่มมีธรรมเนียมการใช้ดอกไม้จันทน์เทียมในหมู่สามัญชน และนิยมใช้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ต่อมาไม้โมกเริ่มหายากและมีราคาแพง จึงเปลี่ยนไปใช้วัสดุอย่างอื่นที่หาง่ายและมีราคาถูก
รูปแบบของดอกไม้จันทน์ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย แบบที่นิยมใช้ส่วนมากเป็นแบบธรรมดา ทำเป็นรูปดอกกุหลาบ ดอกแก้ว สีขาว สีครีม และสีดำ แต่ในปัจจุบันทั้งรูปแบบ สีสัน และราคาของดอกไม้จันทน์เปลี่ยนแปลงไปมากตามความต้องการของยุคสมัย และผู้คนที่มีความหลากหลายมากขึ้น
รวมถึงทัศนคติของคนใช้ดอกไม้จันทน์เปลี่ยนไปเป็นการแสดงความเคารพรักและระลึกถึงผู้ที่ตนรักเป็นครั้งสุดท้าย สีสันและความสวยงามของดอกไม้จันทน์จึงมีความสำคัญมากขึ้น