ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ไม่ใช่กล้วยไม้ แต่มันคือ “ตั๊กแตน” สุดโหด ที่แฝงตัวรอกินเหยื่อ


ไม่ใช่กล้วยไม้ แต่มันคือ “ตั๊กแตน” สุดโหด ที่แฝงตัวรอกินเหยื่ออย่างเลือดเย็น
คุณอาจเคยเห็นแมลงแปลกๆ มามากมาย แต่รับรองว่าคุณต้องไม่เคยเห็นแมลงที่ทั้งสวย แปลก และโหดแบบนี้มาก่อนแน่นอน

ถ้าพูดถึงตั๊กแตนตำข้าว หลายๆ คนคงนึกถึงลักษณะรูปร่างหน้าตาของมันได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับ “ตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้” เป็นอะไรที่ต่างออกไป เพราะลักษณะของมันมีสีสันสวยงามราวกับกล้วยไม้ ซึ่งมันได้ใช้ประโยชน์ของมันตรงจุดนี้ แฝงตัวกับต้นกล้วยไม้ได้อย่างแนบเนียนเพื่อดักกินเหยื่อที่หลงเข้ามาใกล้ได้อย่างง่ายดาย

ความสามารถพิเศษของตั๊กแตนชนิดนี้ คือการที่พวกมันสามารถเปลี่ยนสีดได้ในระหว่างวัน โดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ความชื้น และความเข้มของแสง

ตัวเมียจะมีความยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร ขณะที่ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าคือ 2.5 เซนติเมตร ซึ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์ หากตัวเมียไม่พร้อม ตัวผู้อาจถูกตัวเมียจับกินเป็นอาหารได้ (โหดโคตร)

ลองไปชมคลิปการล่าเหยื่อกันแบบชัดๆ แล้วจะรู้ว่า นี่คือ “สวยประหาร” ของจริง !
นอกจากสีชมพูแล้วยังมีสีขาวล้วนที่สวยไปอีกแบบ แต่ความโหดไม่แพ้กัน
เห็นแบบนี้แล้ว ต่อไปเวลาเจอกล้วยไม้ คงมีแอบเสียว และต้องสังเกตให้ดีก่อนแน่นอน



วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แปลกประหลาด ขนุนออกผลคล้ายกล้วย


ชาวบ้านตะลึง! ขนุนออกผลคล้ายกล้วย แห่แชร์ว่อนโซเชียลฯ

ฮือฮา..ขนุนประหลาด..ออกผลคล้ายกล้วย ชาวบ้านขอโชคลาภ ส่องเลขตามระเบียบ ขณะที่หลายคนถ่ายรูปส่งโลกโซเชียลฯ

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์ ได้รับแจ้งจากชาวบ้านบุอำเปา หมู่ 4 ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ว่า พบเห็นต้นขนุนออกผลมาครึ่งผล ภายในมีลักษณะแปลกประหลาดคล้ายกับหวีและผลกล้วยไข่ แต่ละลูกเป็นสีเหลือง ขณะที่ผลของขนุนของต้นดังกล่าว มีทั้งหมด 8 ผลหรือ 8 ลูก ในจำนวนนี้มีลักษณะแปลกประหลาดคล้ายกันจำนวน 2 ลูก

เมื่อผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปตรวจสอบ ก็พบต้นขนุนแปลกประหลาด ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลูกยางพารา ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 700 เมตร เป็นที่ดินของ นางยม พิศเพ็ง อายุ 59 ปี บริเวณต้นขนุนพบชาวบ้านเดินทางมาดูความแปลกประหลาดของผลขนุน กันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน หลังจากที่มีการเผยแพร่ภาพลูกขนุนแปลกประหลาดออกไปในโซเชียลฯ

ชาวบ้านบางคนมาจุดธูปเทียน ขอขมาเจ้าที่เจ้าทาง และนางไม้เจ้าที่ต้นขนุน เพื่อขอเลขเด็ดตามความเชื่อส่วนบุคคล บางรายก็ซื้อฉลากกินแบ่งรัฐบาล และบางคนใช้สมาร์ทโฟนมาถ่ายรูป เพื่อส่งต่อกันในโลกโซเชียลกันอย่างไม่ขาดสาย

จากการสังเกตพบว่าต้นขนุน ได้แยกปลูกจากต้นยางพาราและปลูกใกล้กับต้นกล้วย ที่ชาวบ้านเรียกว่า กล้วยส้ม ต้นขนุนอายุ 7 ปี สูงจากพื้นดินราว 15 เมตร แต่ลูกขนุนหรือผลของขนุน มีทั้ง หมด 8 ลูก โดย 2 ลูกแรกอยู่ไม่สูงจากพื้นมานัก จากพื้นดินราว ราว 50 เชนติเมตร และลูกที่มีลักษณะแปลกประหลาด ก้นของขนุน มีลักษณะคล้ายกล้วยไข่สีเหลือง

ส่วนลูกที่ 2 ห่างจากพื้นดินประมาณ 3 เมตร ลักษณะของผลขนุน หรือลูกขนุนที่แปลกลักษณะคล้ายกล้วยไข่ บางคนก็ว่าคล้ายกับดอกทานตะวัน จะลักษณะของก้นขนุนเป็นสีเหลืองทั้งสองลูก และมีลักษณะเป็นหวีกล้วย และลูกของกล้วยแยกเป็นลูกๆ ไม่มีเปลือกของขนุนห่อหุ้มส่วนครึ่งหลังปลายแต่อย่างใด ดูเหมือนกับหวีและลูกกล้วยเป็นอย่างมาก

นางยม เจ้าของต้นขนุน บอกว่า ปลูกขนุนมา 7 ปี ให้ผลมาแล้วสองรุ่น รุ่นนี้เป็นรุ่นที่สอง เป็นขนุนพันธุ์เนื้อ ตนเองเห็นขนุน มีผล มีลูกแปลกๆ มาตั้งแต่เริ่มออกผลมาแล้ว 3 เดือน แต่ก็ไม่บอกใคร ได้แต่สงสัยอยู่ในใจ เห็นตั้งแต่ผลยังเล็กๆ จนผลโต จึงนำมาบอกลูกหลาน และไม่คิดว่าจะมีคนสนใจอะไร
กระทั่งลูกๆ หลานๆ มาถ่ายภาพและแชร์ส่งต่อกันออกไป ทำให้เกิดความฮือฮาไปทั่วหมู่บ้าน วันนี้จึงมีคนมาขอโชคลาภไม่ขาดทั้งวัน มากันตลอด แต่ก็ถือว่าแปลกว่ามาก เพราะเกิดมาตนก็เพิ่งจะเคยเห็นครั้งนี้เช่นเดียวกัน

ย่านดาโอ๊ะ มหัศจรรย์ ใบไม้สีทอง


มหัศจรรย์หนึ่งเดียวในโลก 'ใบไม้สีทอง'
ของดีนราธิวาส

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia aureifolia K.&S.S.Larsen   ชื่ออื่น : ใบไม้สีทอง , เถาใบสีทอง, ย่านดาโอ๊ะ

ใบไม้สีทองมีชื่อท้องถิ่นอีกชื่อหนึ่งว่า ย่านดาโอ๊ะ เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลกมีชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Bauhinia aureifalia ตั้งชื่อโดยศาสตราจารย์ ไคลาร์เสน (Dr.of Kai Lascrn) นักพฤษาศาสตร์ชาวเดนมาร์ค เมื่อ ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) โดยตั้งชื่อตามสีของใบ (Chryso-สีทอง, Phyllun-ใบ)

ใบไม้สีทอง ไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีมือเกาะม้วนงอ เลื้อยขึ้นไปคลุมตามเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่ ใบเดี่ยว  เรียงเวียนสลับ รูปเกือบกลม ปลายใบหยักเว้าเป็นแฉกลึก 2 แฉก โคนใบเว้าหยักคล้ายรูปหัวใจ รูปร่างคล้ายกับใบกาหลงหรือชงโค แต่ขนาดใหญ่กว่ามากใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง หรือขนสีทองแดงเป็นมันคล้ายเส้นไหมปกคลุมหนาแน่น 

ใบลักษณะเหมือนกำมะหยี่ เริ่มแรกใบจะเป็นสีนาค คล้ายสีชมพู เมื่อผ่านไปสัก 2 สัปดาห์ จะกลายเป็นสีน้ำตาล และเข้มขึ้นเรื่อยๆ  จนประมาณ 3 เดือน จะกลายเป็นสีทอง และอีก 6 - 7 เดือนต่อจากนั้น จากสีทองจะกลายเป็นสีเงิน ใบที่สมบูรณ์เต็มที่มีขนาด 10x18 ซม. แต่เคยพบใหญ่ที่สุดกว่า 25 ซม. นอกจากนี้ ใบไม้สีทอง ถือเป็นพันธุ์ไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ เส้นรอบวงของเถาวัลย์ประมาณ 100 ซ.ม. เลื้อยพันธุ์ต้นไม้ใหญ่ขึ้นสูงถึง 30 เมตร

ดอกมีกลิ่นหอม ออกบนช่อแตกแขนงสั้นๆ ตามปลายกิ่ง กลีบดอก ๕ กลีบ รูปใบพาย สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีนวล ผลเป็นฝักแบนยาวคล้ายดาบ เมื่อแก่จะแตกออกมี ๖-๘ เมล็ด ออกดอกชุกระหว่างเดือนตุลาคม ถึงกุมภาพันธ์

เขตกระจายพันธุ์และถิ่นกำเนิด : พบเฉพาะในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา ขึ้นตามที่โล่งริมลำธารในป่าดิบชื้น อุทยานแห่งชาติน้ำตกบาโจ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ระดับความสูง ๕๐-๒๐๐ เมตร ออกดอกและผลเดือน สิงหาคม - ธันวาคม

สถานภาพ : พืชถิ่นเดียวและพืชหายากในสภาพธรรมชาติ ปัจจุบันนำมาขยายพันธุ์และปลูกเป็นไม้ประดับกันบ้าง แต่ยังไม่แพร่หลาย

การนำใบไม้สีทองมาเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก
การหาวัตถุดิบ จะต้องผ่านการอนุญาตจากวนอุทยานฯ เนื่องจากใบไม้สีทอง อยู่ในป่าลึกคนที่จะเข้าไปเก็บต้องเป็นผู้ชำนาญทาง โดยปีหนึ่งจะเก็บได้แค่ 2 ช่วง คือ เดือนมีนาคมและกันยายนเท่านั้น ใบที่เก็บมา เฉลี่ยจาก 100 ใบ จะมีใบสมบูรณ์สามารถนำมาจำหน่ายได้ประมาณ 20ใบเท่านั้น "หัวใจสำคัญอยู่ที่ความรู้ในการเก็บ ต้องเริ่มจากการเก็บใบไม้สดมา แล้วมาทำให้แห้งตามธรรมชาติ ด้วยการใส่ลงในถุงคอยจนแห้ง ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 4 เดือนถึง 5 เดือน และนำมาอัดรีดให้เรียบ โดยต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน ก่อนที่นำมาใส่ซองบรรจุภัณฑ์ หรือนำมาใส่กรอบรูป ขายเป็นของแต่งบ้าน หลายคนที่ซื้อเพราะเห็นว่าเป็นใบไม้มงคล โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน จะขายใบไม้สีทองได้จำนวนมาก"

ความแปลกของต้นใบไม้สีทอง ใน 1 ต้น  จะมีการเปลี่ยนของสีใบถึง 3 สี คือ สีนาค สีเงิน และสีทอง (ฤดูร้อน, ฤดูฝนจะมีสีทอง และฤดูหนาวจะมีสีเงิน ) ใน 1 ต้น จะมีใบสีนาคเพียง 1 ใบเท่านั้น  ทำให้ต้นใบไม้สีทองกลายเป็นใบไม้มงคลตามความเชื่อ ที่หลายคนอยากที่มีไว้ภายในบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล
ต้นย่านดาโอ๊ะต้นนี้ถ่ายคลิป
ที่สวนสิริกิตจตุจักร

ข้อมูลเพิ่มเติม: สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสร็จทรงงานที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้มีชาวบ้านนำใบไม้ดังกล่าวมาถวาย พระองค์จึงได้ประทานชื่อต้นไม้ดังกล่าว ตามแหล่งที่พบคือ “ย่านดาโอ๊ะ” และเรียกมาจนถึงปัจจุบัน โดยรับสั่งให้มีการรณรงค์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ดังกล่าวนับแต่นั้นมา

รายการบล็อกของฉัน