ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2559

ต้นคีรีมาศ


ต้นคีรีมาศ มีหลายชื่อครับ เรียกว่า เทพพนม ครับ ดีนะไม่เรียกต้นนี้ว่า ส้มคีรีบูน ไว้มาเทียบเคียงกับ เหลืองคีรีบูนและแดงคีรีบูน 
++คีรีมาศ – Aphelandra sinclairiana++
ช่อดอกสีส้มแปร๋นนี้สามารถยาวได้กว่า 8 นิ้วเลย ดอกออกง่ายมากๆ ถึงหน้าหนาวเมื่อไหร่ก็ให้ดอกเมื่อนั้น ต้นนี้ก็เริ่มให้ดอกมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนแล้วครับ และยังทยอยให้ดอกมาเรื่อยๆ แม้จะไม่อลังการเหมือนช่อแรกๆแล้วก็ตาม และที่สำคัญ ที่ไหนมียอด ที่นั่นมีดอกครับ ดอกกว่าจะได้เริ่มบานก็เป็นเดือนๆ กว่าดอกจะบานหมดช่อก็เป็นเดือนๆเช่นกัน

ดอกเค้าเป็นหลอดๆปลายแหลมๆอย่างที่เห็นแหละครับ กลิ่นหอมหวานๆแบบ แก้วมุกดา เลยครับ สีดอกก็หวานซะเหลือเกิน ออกมาตัดกับสีส้มสุดๆของช่อใบประดับยิ่งทำให้ให้ช่อดอกเค้าเด่นจริงๆนะครับ

นอกจากหอมแล้ว ดอกเค้ายังมีน้ำหวานด้วย แต่ไม่เยอะแบบท่วมล้นออกมาแบบ รัถยา ครับ หวานดี มดชอบมากๆ ทั้งกลิ่นหอมทั้งรสชาติดีแบบนี้
คีรีมาศ – Aphelandra sinclairiana++
ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของสกุล Aphelandra ก็คือ เกสรตัวผู้ที่มีเซลล์เดี่ยวๆครับ โดยจากรากศัพท์ภาษากรีกแล้ว apheles หมายถึง เรียบง่าย และ andra หมายถึง เพศชายครับ

ทุกๆส่วนของ คีรีมาศ มีขนหมดครับ กิ่งก้านใบ 
ใบก้านกิ่ง แม้กระทั่งดอกก็มีขน สากมือได้อีกครับ
++คีรีมาศ – Aphelandra sinclairiana++
เมื่อติดเมล็ด ฝักจะเป็นทรงไข่รีๆและมีเมล็ด 4 เมล็ดข้างในครับ เมล็ดคล้ายๆพริก แต่ต้น   คีรีมาศ จะติดเมล็ดยากหน่อย และดูรวมๆแล้วต้นก็ไม่สดใส   มากนัก ทั้งๆที่บำรุงดี จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ต้น คีรีมาศ
จะงามมากๆนั้น ต้องอยู่ที่อากาศด้วยหรือเปล่า เพราะแม้จะเลี้ยงง่ายมากๆ แต่ก็ใบก็ห่อเหี่ยวอยู่บ่อยๆ

ภาพดอกคีรีมาศต่างประเทศนั้นดอกเค้าเป็นช่อใหญ่และแน่นมากๆ คงจะเป็นที่อากาศด้วยมั้งครับ เพราะภาคกลางบ้านเราช่วงนี้ก็ร้อนสุดๆไปเลย ถ้าอากาศอยู่ซักประมาณ 25 องศาเซลเซียสก็คงทำให้ต้นไม้หลายๆต้นงามขึ้นถนัดตาเลยนะครับ
++คีรีมาศ – Aphelandra sinclairiana++
ต้นนี้มะมิวก็ขนเข้าบ้านเหมือนกันครับ บอกว่ารอหน่อยๆก็ไม่รอ ปักชำให้ไม่ยากเย็นอะไรเลย แต่รายนั้นก็ตัดชำไปแล้วเช่นเดียวกันครับ

ต้นอัมพวาหรือมะเปรียง


อัมพวาไม่ใช่ไม้ท้องถื่นของอัมพวา ถิ่นกำเนิดของต้นไม้ขนาดเล็กชนิดนี้นั้นอยู่ในตอนเหนือของมาเลย์และอาจจะคาบเกี่ยวเข้ามาทางใต้มากๆของไทยบ้างครับ ทางใต้เค้าจะเรียกกันว่า นัมนัม และพื้นที่อื่นๆก็ยังมีปรากฏชื่ออื่นๆอย่าง นางอาย หรือ บูรานัม เช่นกัน

อัมพวาหรือมะเปรียงเป็นไม้ต้นขนาดเล็กที่สูงเฉลี่ยอยู่ในช่วง 3-15 เมตรแล้วแต่พื้นที่ เค้าเป็นไม้ที่แตกกิ่งก้านเยอะมาก ยิ่งต้นมีอายุเยอะเท่าไหร่ พุ่มก็ยิ่งแน่นขึ้นเท่านั้น ต้นนี้อายุประมาณ 7 ปีแล้วครับ สูงเกือบๆ 3 เมตร

ต้นอัมพวานี้เป็นต้นไม้ที่ค่อนข้างโตช้าเลย กว่าจะแตกยอดใหม่ๆสีชมพูแดงให้ได้ชื่นใจแต่ละทีก็ต้องรอเป็นช่วงๆ แถมแตกได้ไม่นานก็หลับและพักการเจริญเติบโตอีกแล้ว 

แต่ไม้โตช้าก็มีเสน่ห์ตรงที่เราไม่ต้องตัดแต่งอะไรบ่อยเลย เพราะเค้าไม่มีอะไรให้เราตัด ตัดก็คือฟันทิ้งเลยครับ แหง่ว  นอกจากนี้ อัมพวายังสามารถเติบโตได้ดีในที่ร่มรำไรด้วยครับ แต่ถ้าต้นใหญ่หน่อยก็พอทนแดด

อัมพวา ~ มะเปรียง ~ Cynometra cauliflora
ใบของอัมพวา ที่เราเห็นเหมือน 2 ใบคู่กัน จริงๆนั่นคือ 2 ใบย่อยที่รวมเป็น 1 ใบจริง 
(ในภาพคือ 1 ก้านก็ 1 ใบแท้) ลองคิดง่ายๆว่าเหมือนก้ามปู 1 ก้ามก็มี 2 ง่ามไว้หนีบตรงปลาย แบบนั้นเลยครับ จะได้จำ จะยกต้นที่เด่นๆมาซักต้นมาเปรียบแล้วกันนะครับ ต้นนั้นก็คือ มังคะ ครับ ต้นนี้ก็เป็นไม้ไทยแท้ๆที่หายากอีกต้นหนึ่งเลย ข้อแตกต่างก็คือ แต่ละใบจะมีใบย่อย 4 ใบครับ คือมีใบเล็กๆโผล่มาตรงโคนของแต่ละก้านใบ

เมื่ออายุถึงขั้น ก็จะเริ่มแทงดอก ซึ่งดอกก็อย่างที่เห็นครับว่าโผล่ออกมาจากลำต้นเลย แปลกดีครับ ไม่หอมเลย พอเกสรผสมกันก็จะได้ผล ผลอัมพวานี้ แบนๆ ขรุขระๆ สากๆ กดไม่ค่อยลง โดยรวมแล้วก็เหมือนเกี๊ยวซ่าทอดเกรียมๆ

แต่ถ้าวิชาการๆกันหน่อย เค้าก็จะบอกว่าลักษณะเหมือนไต  เราสามารถรับประทานสดๆตอนสุก หรือว่านำไปแปรรูปก็ได้ ในต่างประเทศก็มีการแช่อิ่ม ทำขนมหวาน แยม ฯลฯ ลูกผลจะมีร่องผ่ากลางแบ่งเป็น 2 พูแบนๆครับ

ดอกอัมพวา ~ มะเปรียง ~ Cynometra cauliflora
หลังจากเริ่มติดฝัก ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนกว่าจะแก่ได้ที่ แต่กว่าจะเริ่มให้ดอกได้จากการเพาะเมล็ด อาจต้องใช้เวลาประมาณ 6 ปี แต่พอได้ออกแล้วก็จะมีมาเรื่อยๆตลอดทั้งปีครับ ดังนั้นถ้าใครจะช่วยอนุรักษ์ต้นไม้ที่ใกล้หายไปจากไทยชนิดนี้ไว้ก็รีบปลูกกันนะครับ ถือว่ามีของแปลกไว้เชยชมที่บ้าน 

ผลอัมพวา ~ มะเปรียง ~ Cynometra cauliflora
ตอนลูกยังเล็กๆอยู่ เค้าก็ออกเป็นโครงร่างแบบลูกที่แก่แล้วครับ คือผิวจะตะปุ่มตะป่ำคล้ายๆมะกรูด เพียงแต่สากมืออยู่เหมือนกัน แถมเป็นสีน้ำตาล เขียวๆ เหลือง ยิ่งไม่ชวนทานเอาเสียเลย หลายๆคนจึงเรียกต้นนี้ว่า ลูกคางคก ครับ ลูกแข็งๆ เราจะดูว่าแก่หรือยังดูจากสีผิวนะครับ คือถ้าลูกใหญ่เริ่มเหลืองๆนิดแล้วเป็นอันว่าใช้ได้ครับ

อัมพวา ~ มะเปรียง ~ Cynometra cauliflora
ลูกแก่ๆที่ว่าคือใหญ่ประมาณอุ้งมือครับ โดยการรับประทานผลสดๆนั้น เราต้องปอกเปลือกสีน้ำตาลๆออกก่อน แล้วเราก็จะพบเนื้อสีขาวๆเหลืองๆ คล้ายๆ Avocado 

เรื่องรสชาติผลต้นอัมพวาให้ฟังนะครับ เมื่อเริ่มเคี้ยว มันจะเหมือนเรากำลังกัดมะม่วงที่กึ่งดิบกึ่งสุกครับ คือไม่แข็งและไม่นุ่มมาก และ เราก็จะพบว่ารสเปรี้ยวปนหวานนิดๆ เมื่อบวกกับกลิ่นแล้ว มันใกล้เคียงกับผลไม้ที่เราคุ้นเคยกันนั่นคือ มะกอก ครับ มะกอกจริงๆ โดยมีกลิ่นเฉพาะตัวและรสเปรี้ยวแบบแปลกๆ แปลกทั้งรูปร่าง แปลกทั้งรสแบบนี้ เลยไม่ค่อยน่าประหลาดใจที่ไม่เป็นที่นิยมปลูกกันนะครับ

ผลอัมพวา ~ มะเปรียง ~ Cynometra cauliflora
เมล็ดใหญ่มาก ผ่าครึ่งลูกให้เห็นกันชัดๆครับว่าใหญ่จริงๆ แทบจะไม่มีเนื้อเลย เมล็ดล้วนๆ น่ากลัวดีครับ เป็นเส้นเลือดขอดหรือเปล่าไม่รู้ ลายแทงเต็มไปหมดเลย 

เมล็ดนี้แหละคือสิ่งที่ไว้กระจายพันธุ์อัมพวาครับ ต้นส่วนใหญ่ที่มีๆกันก็เป็นต้นเพาะเมล็ด ต้นนี้ก็เพาะเมล็ดครับ และอัตราการงอกของเค้าจะไม่สูงเลยถ้าเราไม่รีบปลูก อย่าเก็บไว้นานนะครับ  การขยายพันธุ์อีกอย่างที่พอมีกันก็คือการตอน แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมาก

ต้นแจง

แจง
แจง ชื่อวิทยาศาสตร์ Maerua siamensis (Kurz) Pax (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Crateva mucronulata Kuntze, Niebuhria siamensis Kurz) จัดอยู่ในวงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)

สมุนไพรแจง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แกง (นครราชสีมา), แก้ง แจ้ง เป็นต้น

ลักษณะของต้นแจง
ต้นแจง หรือ ต้นแกง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ พบได้บ้างที่เป็นไม้พุ่มเตี้ย ๆ เป็นพรรณไม้โตช้า มีความสูงของต้นได้ประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งแขนงมากมายคล้ายกับไม้พุ่ม กิ่งก้านแตกออกแผ่เป็นรูปร่ม เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเข้มจนเกือบดำ เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด พบขึ้นได้ในป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรังแล้ง ป่าโปร่งแห้ง เขาหินปูน ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 0-400 เมตร โดยจะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ใบแจง มีใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกสลับกัน มีใบย่อย 3 ใบ (บางครั้งอาจพบว่ามี 4-5 ใบ แต่พบได้น้อย) ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปแถบ ปลายใบสอบเรียว หรือกลม หรือเว้าตื้นเล็ก ๆ มีหนามแหลมสั้น ๆ โคนใบสอบ เป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและเกลี้ยงทั้งสองด้าน (บ้างว่าบางคล้ายแผ่นกระดาษ) แผ่นใบแตกแขนงมาก ก้านช่อใบยาวประมาณ 1.5-6.5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยสั้นจนเกือบไม่มี

ดอกแจง ออกดอกเป็นข่อเชิงหลั่นหรือช่อกระจะ รวมเป็นช่อแยกแขนง โดยออกเป็นช่อตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเขียวอมสีขาว ดอกไม่มีกลีบดอก มีแต่มีกลีบเลี้ยงดอก 4 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ปลายแหลม

ส่วนขอบมีขนคล้ายกับเส้นไหม เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 9-12 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร ติดทน มีอับเรณู
ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายอับเรณูเป็นติ่ง ส่วนก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง มีรังไข่เป็นรูปทรงกระบอกเกลี้ยง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม

ผลแจง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี หรือรูปกระสวย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลยาวประมาณ 4.5-7.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต โดยจะออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

ประโยชน์ของแจง
*ดอกอ่อน ยอดอ่อน นำมาดองคล้ายกับผักเสี้ยนหรือ
*ดอกกุ่ม ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริกได้
*ยอดอ่อนของต้นแจงสามารถนำมาดองก่อนนำมารับประทานได้ หรือที่อีสานเรียกว่า “คั้นส้ม” เช่นเดียวกับการกินยอดผัดกุ่ม ที่ต้องนำมาดองหรือคั้นส้มก่อนนำมารับประทาน และคนอีสานยังเชื่อว่าหากได้รับประทานคั้นส้มของยอดอ่อนของต้นแจงปีละครั้ง 
*จะช่วยป้องกันสภาวะสายตายาวได้ และยังช่วยบำรุงสายตาได้ดีเยี่ยมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นที่ระบุด้วยว่าผลก็สามารถนำมารับประทานได้ (แต่ไม่อร่อยจึงไม่เป็นที่นิยม) และใช้เป็นอาหารของนกได้
*ต้นแจงจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ เป็นต้นไม้หายากที่กำลังจะถูกลืมเพราะไม่เป็นที่รู้จักกันนัก จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ เหมาะแก่การนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อชื่นชมความงามของดอกและผลที่มีลักษณะสวยงามและแปลกตา อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม เหมาะใช้ปลูกเพื่อตกแต่งภูมิทัศน์ ปลูกให้ความร่มรื่นและร่มเงาได้เป็นอย่างดี
มีการใช้ลำต้นของต้นแจงเพื่อเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตลูกแป้งหรือแป้งข้าวหมากด้วย
*ไม้สีขาวอ่อนและล่อนเป็นกาบ ๆ ของต้นแจง นิยมนำมาเผาเอาถ่าน เพื่อทำถ่านที่มีคุณภาพดี และยังนำถ่านที่ได้มาทำเป็นดินปืน นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำเป็นถ่านอัดในบั้งไฟอีกด้วย
*ใบของต้นแจงเมื่อในสมัยก่อนนั้นจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาขนสัตว์ เช่น กระจอก
นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เพื่อแจกแจงอายุขวบขัยของวงปีต้นไม้ได้ สังเกตได้การตัดไม้ตามขวางของ
*ลำต้นจะเห็นวงปีได้ชัดเจน จึงนำนิยมนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการเรียนการสอยทางชีววิทยา




รายการบล็อกของฉัน