ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ทีมสำรวจสำนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ สำรวจพบ "ว่านแผ่นดินเย็นเห็มรัตน์"กล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก .


☑️ทีมสำรวจสำนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ สำรวจพบ "ว่านแผ่นดินเย็นเห็มรัตน์"กล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก 

ว่านแผ่นดินเย็นเห็มรัตน์ Nervilia hemratii S.W.Gale, Tetsana & Suddee sp. nov. วงศ์ Orchidaceae กล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก ใน section Linervia จากภาคตะวันตกของประเทศไทย ตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสาร Kew Bulletin: DOI 10. 1007/S12225-022-10024-5

กล้วยไม้ดิน สูงประมาณ 12 ซม. หัวใต้ดินทรงกลม สีขาวแกมน้ำตาล ใบสีเขียวเป็นมัน เส้นใบสีม่วงเข้ม ใบรูปห้าเหลี่ยม ปลายแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ ช่อดอกตั้งตรง ยาวประมาณ 10 ซม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเขียว มีแต้มสีน้ำตาลแกมม่วง กลีบปากรูปไข่กลับ กลางกลีบมีแถบสีเหลือง ล้อมด้วยแต้มสีม่วง ซึ่งกล้วยไม้ชนิดใหม่นี้ลักษณะใบจะคล้าย Nervilia infundibulifolia Blatt & McCann ซึ่งมีการกระจายพันธุ์กว้างขวางกว่า


จากการดำเนินโครงการวิจัยความหลากหลายของพันธุ์พืชในระบบนิเวศเขาหินปูนประเทศไทย ได้สำรวจพรรณไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พบตัวอย่างกล้วยไม้ที่มีเฉพาะใบจึงนำมาปลูกในเรือนเพาะชำ พอถึงฤดูออกดอกก็พบว่าเป็นชนิดที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ จึงส่งให้ผู้เชี่ยวชาญในกล้วยไม้สกุล Nervilia นี้ ช่วยตรวจสอบ พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก


ทั้งนี้ ทั้งชื่อไทยและคำระบุชนิด ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้ นายจันดี เห็มรัตน์ เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ (หอพรรณไม้) ผู้ปฏิบัติงานจัดการตัวอย่างพรรณไม้และช่วยงานภาคสนามมาอย่างเข้มแข็งตั้งแต่ยุค ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ มีความเชี่ยวชาญในการสังเกต จำแนกพรรณไม้กลุ่มต่าง ๆ ในภาคสนามเป็นอย่างดี 


โดยผู้ดำเนินโครงการฯ ได้กล่าวขอบพระคุณสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ให้งบมาดำเนินโครงการวิจัยความหลากหลายของพันธุ์พืชในระบบนิเวศเขาหินปูนประเทศไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณที่อำนวยความสะดวกในงานภาคสนามเป็นอย่างดี และทีมงานสำรวจพรรณไม้เขาหินปูนที่ร่วมมือกันอย่างแข็งขันจนพบพืชชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

นี่มันกบช็อกโกแลต! พบกบชนิดใหม่ในเปรู มีลำตัวสีน้ำตาลเหมือนช็อกโกแลต มีลักษณะเด่นคือ จมูกที่ยื่นออกมาเหมือนจมูกสมเสร็จ

นี่มันกบช็อกโกแลต! พบกบชนิดใหม่ในเปรู มีลำตัวสีน้ำตาลเหมือนช็อกโกแลต มีลักษณะเด่นคือ จมูกที่ยื่นออกมาเหมือนจมูกสมเสร็จ เผยเป็นกบที่อาศัยอยู่ใต้ดินภายในป่าแอมะซอน
นักวิจัยในเปรูพบกบสายพันธุ์ใหม่ Synapturanus Danta ที่มีลักษณะแปลกตาคือ จมูกที่ยื่นออกมาคล้ายกับจมูกสมเสร็จ และลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ที่ทำให้มันดูเหมือนกบช็อกโกแลต โดยกบเหล่านี้อาศัยอยู่ใต้ดินในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำของป่าแอมะซอน
ความจริงแล้ว ‘Rana Danta’ หรือหากแปลตรงตัวก็คือ กบสมเสร็จ เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่มานานแล้ว แต่เพิ่งได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ “กบชนิดนี้หายากมาก ๆ จึงไม่ค่อยถูกศึกษาเท่าไหร่” Michelle Thompson หนึ่งในนักวิจัยเล่า ซึ่งหากพวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากคนในพื้นที่ ที่มีความคุ้นเคยกับเสียงร้องกบ ทีมวิจัยก็คงหามันไม่เจอ
“กบในสกุลนี้พบได้ทั่วไปในป่าแอมะซอน พวกมันขุดดินไม่ได้ลึกมาก และถิ่นอาศัยของแต่ละชนิดก็ค่อนข้างแคบ สำหรับกบชนิดใหม่นี้ เราจะสังเกตเห็นได้ถึงการปรับตัว ทั้งจากรูปร่างและลักษณะทั่วไป ซึ่งเหมาะกับดินที่อ่อนนุ่มในพื้นที่ชุ่มน้ำ” Germán Chávez นักวิจัยอีกคนหนึ่งอธิบายต่อ

เนื่องจากเจ้า S. danta อาศัยอยู่ใต้ดิน พวกมันจึงน่าจะมีส่วนสำคัญในการหมุนเวียนของสารในระบบนิเวศ และมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดิน ใน Putumayo ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่อยู่ภายใต้โครงการอนุรักษ์ของเปรู

รู้จัก...“กล้วยเถื่อน" ไม้ป่ากินได้ กล้วยเถื่อน

#รู้จัก...“กล้วยเถื่อน" ไม้ป่ากินได้ กล้วยเถื่อน

รู้จัก...“กล้วยเถื่อน" กล้วยป่าไม้ป่ากินได้

กล้วยเถื่อนมีชื่อวิทยาศาสตร์ :​ 𝘔𝘶𝘴𝘢 𝘢𝘤𝘶𝘮𝘪𝘯𝘢𝘵𝘢 Colla subsp. 𝘮𝘢𝘭𝘢𝘤𝘤𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴 (Ridl.) N.W.Simmonds วงศ์ : Musaceae

ชื่อเรียกอื่น ๆ : กล้วยชี้ (พังงา นครศรีธรรมราช), กล้วยป่า (ทั่วไป),กล้วยเถื่อนน้ำมัน (ภาคใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก ลำต้นเทียมสูง 2.5–3.5 เมตร ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนาน กว้าง 40–60 เซนติเมตร ยาว 2–3 เมตร ก้านใบยาว 40–55 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ ออกที่ปลายยอด

ช่อดอกตั้ง ปลายโน้มลง มีหลายช่อดอกย่อย (หวี) มีกาบปลีระหว่างช่อดอกย่อย ผลรูปทรงกระบอก ปลายสอบ โคนมน เมล็ดสีดำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–6 มิลลิเมตร

ประโยชน์ : หยวกและหัวปลี ลวกจิ้มน้ำพริก ต้มกะทิ ใส่แกงไก่ ใส่แกงส้ม หัวปลี ชุบแป้งทอด ใส่ทอดมัน

ผลสุก รับประทานได้ เป็นอาหารของสัตว์ป่า ใบ ใช้ห่อของ ในทางสมุนไพร ยางสมานแผล ห้ามเลือด ผลดิบแก้ท้องเสีย ผลสุกเป็นยาระบาย หัวปลีขับน้ำนม ปลูกเป็นไม้เบิกนำฟื้นฟูป่า

ข้อมูลเพิ่มเติม

กล้วยป่าเป็นกล้วยชนิดหนึ่งซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้นตระกูลของกล้วยที่รับประทานได้ในปัจจุบัน ร่วมกับกล้วยตานี (Musa balbisiana) 

ถูกเพาะปลูกโดยมนุษย์ครั้งแรกเมื่อ 8,000 ปีก่อน เป็นพืชชนิดแรกที่มนุษย์นำมาปลูกเลี้ยง

กล้วยป่ามีชื่อพื้นเมืองอื่นอีกดังนี้: กล้วยไข่ (กลาง,เหนือ) กล้วยเถื่อน (ใต้) กล้วยเถื่อนน้ำมัน (ใต้) กล้วยลิง (อุตรดิตถ์) กล้วยหม่น (เชียงใหม่) และปิซังอูตัน (มลายู ปัตตานี) 

ตัวอย่าง...กล้วยลาตุนดัน (Latundan bananas) หรือกล้วยตุนดัน (Tundan) กล้วยไหม (Silk bananas) ปีซังรายาเซอเระห์ (Pisang raja sereh) กล้วยมันซานา (Manzana bananas) กล้วยแอปเปิ้ล (Apple bananas) เป็นกล้วยลูกผสมที่พบในฟิลิปปินส์ เป็นกล้วยสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไปในฟิลิปปินส์ คู่กับ กล้วยลากาตันและกล้วยซาบา

รายการบล็อกของฉัน