ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เปิดบันทึก Yateveoพญาต้นไม้กินคนแห่งอเมริกาใต้

เปิดบันทึก ‘Yateveo’ พญาต้นไม้กินคนแห่งอเมริกาใต้ เรื่องเล่าจากนักเดินป่าเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
ไม่ใช่จะมีแต่เพียงสัตว์เท่านั้นที่มีพฤติกรรมในการหาอาหารกินด้วยการ “ล่า” ธรรมชาตินั้นยังสร้างให้พืชบางชนิดนั้นมีกลไกในการหาอาหารที่คล้ายๆ กับการล่าของสัตว์ อย่างเช่น ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่มีการพัฒนาส่วนของลำต้นให้มีลักษณะคล้ายกับกับดักเพื่อล่อให้แมลงตกลงไปด้านในและค่อยๆ สูบเหยื่อกินอย่างช้าๆ แต่ก็มีเรื่องเล่าที่ยังเป็นปริศนาอยู่ว่ายังมีต้นไม้ไม่ได้กินเพียงแค่แมลงเท่านั้นอยู่ในป่าลึกที่มนุษย์ส่วนใหญ่ยังเข้าไปไม่ถึงอเมริกาใต้

ต้นไม้ชนิดนี้นั้นมีชื่อว่า “Yateveo” ถูกกล่าวถึงในหนังสือชื่อ Land And Sea ที่เขียนโดย J. W. Buel ถูกตีพิมพ์ในปี 1887 โดยเจ้าต้น Yateveo นี้จะขึ้นในป่าลึกแถบอเมริกาใต้ไปจนถึงอเมริกากลางและยังพบในแถบแอฟริกาอยู่ด้วย ลำต้นของ Yateveo มีลักษะเป็นเหมือนตอที่โผล่พ้นพื้นขึ้นมาประมาณ 20-30 ซม. ความกว้างมีตั้งแต่ 50 ซม. ไปจนถึง 2 เมตร บนตอนั้นจะถูกปกคลุมไปด้วยมอสส์จนดูเหมือนเป็นพรมสีเขียว นอกจากนี้ยังมีแขนงยาวๆ ยื่นออกมาจากตอเป็นแฉกอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งแฉกที่ยื่นออกมานั้นมันทั้งยืดหยุ่นและทั้งเคลือบด้วยเมือกเหนียวๆ อีกทั้งยังมีหนามเล็กๆ อยู่เป็นจำนวนมาก 

วิธีการใน “ล่า” ของ Yateveo นั้น พวกมันจะซ่อนแขนงไว้ใต้พื้นและย่อลำต้นลงมาให้ติดพื้นเพื่อรอให้เหยื่อก้าวขึ้นไปเหยียบด้านบน เมื่อมีผู้โชคร้ายเผลอก้าวมาเหยียบ แขนงที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นก็จะเด้งขึ้นมารัดตัวเหยื่อไว้ไม่ให้หนีอย่างรวดเร็ว เมือกเหนียวและหนามที่ขึ้นจะช่วยไม่ให้เหยื่อดิ้นหลุดไปได้ จากนั้นแขนงที่รัดก็จะรัดอย่างรุนแรงจนเหยื่อขาดใจตายและเลือดก็จะไหลลงไปยังตอที่ปกคลุมไปด้วยมอสส์ Yateveo นั้นจะรัดเหยื่อเพื่อรีดเลือดออกมาจนหมดตัว หลังจากนั้นก็จะโยนซากเหยื่อทิ้งไว้ใต้ลำต้นเพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยต่อไป

เรื่องราวของ Yateveo นั้น เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชนเผ่าต่างๆ บ้างก็ว่ามันคือเทพเจ้าแห่งป่า ในกลุ่มชนเผ่าแถบอเมริกาใต้นั้นพบว่ามีบันทึกการทำพิธีบูชายัญให้กับ Yatevo ด้วยการจับเชลยมัดแล้วโยนไปที่ตอ เพื่อให้เทพเจ้าได้ดื่มกินเลือดและจะบันดาลชัยชนะในการรบให้กับพวกเขา แต่ในส่วนของเหล่าคนเมืองนั้น เรื่องราวของ Yateveo นั้นยังเป็นปริศนาอยู่ว่ามันคือเรื่องจริงหรือเป็นเพียงนิทานที่เล่าต่อๆ กันมาในหมู่ชนเผ่าเพราะยังไม่เคยมีนักสำรวจคนใดเคยเห็นมันมาก่อน มีแต่คำบอกเล่าเพียงเท่านั้น

เรียบเรียง : Spok

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ต้นปรงโบราณในอังกฤษออกดอกทั้งเพศผู้และเพศเมียเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ล้านปี



ต้นปรงโบราณในอังกฤษออกดอกทั้งเพศผู้และเพศเมียเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ล้านปี

ต้นปรงสายพันธุ์โบราณ 2 ต้นที่สวนพฤกษศาสตร์ Ventnor บนเกาะ Isle of Wight ในประเทศอังกฤษได้ออกดอกเป็นเพศผู้และเพศเมีย (คนละต้น) เป็นครั้งแรกในรอบ 60 ล้านปี นักพฤกษศาสตร์กล่าวว่านี่เป็นสัญญาณบอกชัดถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะโลกร้อน
ปรงสายพันธุ์ Cycas เป็นพืชดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ที่เคยครอบครองโลกในยุค 280 ล้านปีก่อน ปัจจุบันพบมากในแถบเส้นศูนย์สูตร พืชในสกุลนี้มีลำต้นเตี้ยๆเป็นรูปทรงกระบอกที่ล้อมรอบด้วยฐานก้านใบ ใบออกเป็นกระจุกที่ยอดของลำต้น มีดอกหรืออวัยวะสืบพันธุ์แยกเพศอยู่กันคนละต้นเรียกว่าโคน (Cone) ดอกเพศผู้เป็นช่อแน่นทรงกระบอกยาวปลายยอดเป็นทรงกรวย ส่วนดอกเพศเมียแผ่ออกเป็นแผ่นคล้ายกาบ

ต้นปรงในยุคโบราณเคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศอังกฤษในปัจจุบันเมื่อหลายสิบล้านปีก่อน มีการพบฟอสซิลของต้นไม้ชนิดนี้ในชั้นหินยุคจูราสสิคกระจัดกระจายอยู่ตั้งแต่บริเวณเกาะ Isle of Wight ถึงแถบชายฝั่งเขต Dorset ซึ่งในยุคนั้นสภาพอากาศของโลกมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูง

สวนพฤกษศาสตร์ Ventnor บนเกาะ Isle of Wight ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าบนเกาะใหญ่ราว 5 องศาเซลเซียสได้เริ่มทดลองปลูกต้นปรงสายพันธุ์ Cycas เมื่อราว 15 ปีก่อน ซึ่งมันไม่เพียงแต่รอดชีวิตผ่านฤดูหนาวมาได้ แต่ยังแตกใบเจริญเติบโต เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีปรงต้นหนึ่งออกดอกเพศผู้ และในปีนี้พวกมันได้ออกดอกเพศผู้และเพศเมียในเวลาเดียวกัน

“นี่เป็นครั้งแรกที่ต้นปรง Cycas ออกดอกทั้งเพศผู้และเพศเมียในประเทศอังกฤษนับตั้งแต่เมื่อ 60 ล้านปีที่แล้ว” Chris Kidd ผู้ดูแลที่สวนพฤกษศาสตร์ Ventnor กล่าว “มันเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าฤดูร้อนที่ร้อนจัดและฤดูหนาวที่หนาวน้อยลงทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น”

Kidd บอกว่าคลื่นความร้อนเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วและอูณหภูมิที่สูงจนทำลายสถิติในปีนี้เป็นสาเหตุให้ต้นปรงออกดอก โดยมีฤดูหนาวที่ไม่หนาวจัดเป็นตัวช่วยเสริม เขายังบอกว่าจากข้อมูลที่บันทึกไว้ของสวนพฤกษศาสตร์พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงที่สุดในเดือนมกราคมของเมื่อ 100 ปีก่อนยังต่ำกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยที่ต่ำที่สุดในเดือนเดียวกันของปัจจุบัน

“มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวระยะสั้น แต่เป็นสภาพอากาศอบอุ่นในระยะยาวที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น” Kidd กล่าว “เมื่อ 30 ปีก่อนเราไม่สามารถปลูกพืชชนิดนี้ได้ แต่ตอนนี้มันเติบโตอยู่ในสวนตามธรรมชาติมาได้ 15 ปีแล้ว”

นอกจากนี้ Kidd ยังได้บอกว่าสวนพฤกษศาสตร์ Ventnor เพิ่งสามารถปลูกพืชชนิดอื่นที่มักพบได้ในเขตภูมิอากาศร้อน รวมทั้งต้นเจอราเนียมยักษ์ (giant geraniums) จากเกาะ Madeira และพวกดอกไม้ที่แสนแปลกประหลาดอื่นๆ

วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562

สภาพอากาศที่เลวร้ายจะฆ่าต้น Baobab ต้นไม้โบราณที่อยู่บนโลกนี้มานานนับพันปี


ต้นไม้ที่เติบโตอยูในพื้นที่แห้งแล้งถือเป็นต้นไม้ที่มีความอดทนสูงมาก เพราะต้นไม้ส่วนใหญ่ต้องดำรงชีวิตด้วยน้ำ มีเพียงพื้นที่แห้งแล้งไม่กี่แห่งในโลกที่ต้นไม้สามารถเติบโตได้อย่างงดงาม และหนึ่งในต้นไม้ขนาดใหญ่ที่สามารถเติบโตได้ในพื้นที่แห้งแล้งคือ ต้นเบาบับ

งานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Plants จากการตรวจสอบต้นเบาบับอายุนับพันปี บางต้นมีอายุ 3,000 ปี ในพื้นที่แอฟริกา กว่า 13 ต้น ตายลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย อย่างไรก็ตามทีมนักวิจัยต้องหาข้อสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าโลกร้อนเป็นเหตุให้ต้นเบาบับโบราณตายลง

โดยงานวิจัยเผยว่าตอนนี้มีต้นเบาบับอายุ 1,000 – 2,000 ปี ได้ตายไปแล้ว 6 ต้น  รวมไปถึงต้นเบาบับอายุมากกว่า 2,000 ปี ได้ตายไปแล้ว 3 ต้น

Baobab tree เป็นชื่อเรียกของพืชในสกุล Adansonia มีด้วยกัน 8 สายพันธุ์ และว่า 6 สายพันธุ์พบได้เฉพาะมาดากัสการ์ สำหรับสายพันธุ์ในภาพนี้มีชื่อว่า Adansonia grandidieri ถือเป็นต้นไม้สายพันธุ์ที่ใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดในมาดากัสการ์ ต้นของมันสามารถสูงได้ถึง 25-30 เมตร ปัจจุบันถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2562

แปลก เห็ดดอกบัว


แปลก เห็ดดอกบัว ขึ้นในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

พะเยา - ช่วงปลายฝนต้นหนาว พบความสวยงามของเห็ดดอกบัว บานสพรั่งแตกออกเป็นแฉกคล้ายดอกบัวที่กำลังบาน ถึงแม้จะเป็นเห็ดที่ชาวบ้านไม่นำไปรับประทาน
แต่เชื่อว่าแสดงถึงความสมบูรณ์ของหมู่บ้าน ดอกบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา หมู่บ้านที่มีเห็ดดังกล่าวที่ถือเป็นสัญลักษณ์บ้านดอกบัว ขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้
     

นายการันต์ ปัญญาดี หนุ่มวัย 42 ปี ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา นำผู้สื่อข่าวเข้าดูเห็ดดอกบัวที่ขึ้นเรียงรายเป็นจำนวนมากในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ ซึ่งเป็นเห็ดที่มีรูปทรงที่สวยงาม เมื่อถึงเวลาแก่และบานดอกเห็ดก็จะแตกตัวเป็นแฉกคล้อยกลีบดอกบัว 


ซึ่งเป็นเห็ดที่หาดูได้ยากมากในพื้นที่อื่น และพบออกโดยทั่วไป ในพื้นที่ป่าไผ่ในหมู่บ้าน บ้านดอกบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 ของประเทศ และถือเป็นสัญลักษณ์ของบ้านดอกบัว 
     
โดยนายการันต์ ปัญญาดี ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านดอกบัว ระบุว่า เห็ดดังกล่าวชาวบ้านเรียกว่า เห็ดตะล่อม หรือเห็ดดอกบัว ในทุกปีช่วงปลายฝนจะออกกันเป็นจำนวนมาก โดยจะออกบริเวณใต้ต้นไผ่ที่มีความชื้นเหมาะสม 


โดยเริ่มแรกจะออกเป็นลูกกลมๆหลังจากที่แก่แล้วจะบานเหมือนดอกบัว ถึงแม้ชาวบ้านจะไม่นำไปทำอาหารและกิน แต่ก็ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน เพราะในช่วงนี้เห็ดชนิดดังกล่าวจะออกเป็นจำนวนมากในพื้นที่หมู่บ้าน

รายการบล็อกของฉัน