ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ต้อยติ่ง

ต้อยติ่ง
ต้อยติ่ง ชื่อสามัญ Waterkanon, Watrakanu, Minnieroot, Iron root, Feverroot, Popping pod, Cracker plant, Trai-no, Toi ting จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)

ต้อยติ่งฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ruellia tuberosa L. มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ต้อยติ่งเทศ, ต้อยติ่งน้ำ, ต้นอังกาบ, อังกาบฝรั่ง, เป๊าะแป๊ะ เป็นต้น
ต้อยติ่งไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Hygrophila erecta (Burm.f.) Hochr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hygrophila phlomoides var. roxburghii C.B. Clarke) ส่วนอีกข้อมูลระบุชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hygrophila ringens var. ringens (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hygrophila quadrivalvis (Buch.-Ham.) Nees) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ต้อยติ่งนา (กรุงเทพ), น้ำดับไฟ (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น

ต้อยติ่ง มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ต้อยติ่งไทย เป็นต้อยติ่งดั้งเดิมของบ้านเรา ซึ่งในปัจจุบันจะพบเห็นได้น้อยลงทุกที และอีกชนิดคือ ต้อยติ่งฝรั่ง เป็นชนิดที่พบเห็นได้ทั่วไปในช่วงฤดูฝน ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน ทั้งสองชนิดจะมีลักษณะของดอกที่คล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างกันตรงส่วนของใบ ซึ่งใบของต้นต้อยติ่งฝรั่งจะมีขนาดเล็กกว่าต้อยติ่งไทย แต่ต้อยติ่งฝรั่งจะโตเร็วกว่าต้อยติ่งไทย

ต้อยติ่งชนิดที่ออกดอกเป็นสีม่วงคราม สีชมพู หรือดอกสีขาว จะพบได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งชนิดนี้เราจะเรียกว่าต้อยติ่งฝรั่ง ลักษณะของใบจะเรียวยาวแคบ สรรพคุณทางยาของต้อยติ่งฝรั่งโดยรวมแล้วจะคล้ายคลึงกับต้อยติ่งไทย

ลักษณะของต้อยติ่งฝรั่ง
ต้นต้อยติ่ง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีลำต้นสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร (ถ้าเป็นต้อยติ่งไทยจะมีความสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร) ตามลำต้นจะมีขนอ่อน ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่เล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นได้ง่ายตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป สามารถเพาะปลูกได้ง่าย จึงนิยมนำมาปลูกไว้ตามหน้าบ้าน
ต้นต้อยติ่ง

ใบต้อยติ่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อของลำต้น แผ่นใบมีสีเขียว ลักษณะใบเป็นรูปมนรี ปลายใบมน โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจักและอาจมีคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 นิ้ว และยาวประมาณ 2.5-3 นิ้ว

ดอกต้อยติ่งฝรั่ง ออกดอกเป็นช่อหรือบางทีออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบบริเวณส่วนยอดของต้น ดอกเป็นสีม่วง ดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวย ปลายดอกแยกออกเป็น 5 กลีบ กลางดอกมีเกสร 4 ก้าน แบ่งเป็นก้านสั้น 2 ก้านและก้านยาว 2 ก้าน
ดอกต้อยติ่งดอกต้อยติ่งฝรั่ง

ผลต้อยติ่ง หรือ ฝักต้อยติ่ง (เม็ดเป๊าะแป๊ะ, เมล็ดต้อยติ่ง) ผลมีลักษณะเป็นฝักยาว มีความยาวได้ประมาณ 1 นิ้วกว่า ถ้าฝักได้รับความชื้นหรือถูกน้ำมาก ๆ ก็จะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดอยู่ 8 เมล็ด

ดอกต้อยติ่งเทศเม็ดเป๊าะแป๊ะ
สมุนไพรต้อยติ่ง จัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่มีดอกสวยงามที่คนส่วนใหญ่จะคุ้นตากันอยู่บ้าง ยิ่งในหน้าฝนต้อยติ่งจะออกดอกสีม่วงบานสะพรั่งไปทั่วริมทางหรือบริเวณริมสระน้ำ ยิ่งใบสีเขียวเข้มของมันยิ่งช่วยขับให้ดอกดูมีความโดดเด่นยิ่งนัก หลาย ๆ คนอาจชมความงามของมันในฐานะที่มันเป็นวัชพืช ตอนเด็ก ๆ เรามักใช้ใบไม้ ดอกไม้ นำมาทำเป็นของเล่นเพื่อความสนุกสนาน ต้อยติ่งก็เช่นกัน โดยจะเก็บเมล็ดแก่ ๆ ใช้น้ำหยดแล้วขว้างใส่กันสนุกสนานเหมือนกับการเล่นปาระเบิด เสียงดังเปรี๊ยะ…ปร๊ะ ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่คุณรู้หรือไม่ว่าวัชพืชที่ว่านี้ไม่ใช่วัชพืชที่ไร้ประโยชน์ เพราะต้อยติ่งสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้อีกมากมาย ไปดูกันเลย…

สรรพคุณของต้อยติ่ง
  1. รากใช้เป็นยารักษารักษาโรคไอกรน (ราก)
  2. รากใช้เป็นยาขับเลือด (ราก)
  3. รากต้อยติ่งสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคไตได้(ราก)
  4. สรรพคุณต้อยติ่งฝรั่ง รากช่วยดับพิษในร่างกาย (ราก)
  5. ช่วยทำให้อาเจียน (ราก)
  6. สรรพคุณต้อยติ่ง ใบใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (ใบ)
  7. รากหากนำมาใช้ในปริมาณที่เจือจางสามารถช่วยจำกัดสารพิษในเลือดได้ (ราก)
  8. ช่วยบรรเทาอาการสารพิษตกค้างในปัสสาวะ (ราก)
  9. ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ (ราก)

  10. ใบใช้พอกแก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ (ใบ)
  1. เมล็ดใช้พอกฝีเพื่อดูดหนองและช่วยลดการอักเสบ (เมล็ด)
  2. เมล็ดใช้พอกแผลเรื้อรัง ช่วยสมานบาดแผล แผลมีฝ้ามีหนอง และช่วยเรียกเนื้อ (เมล็ด)
  3. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น (เมล็ด)
  4. สรรพคุณสมุนไพรต้อยติ่ง เมล็ดช่วยแก้อาการผดผื่นคัน (เมล็ด)
  5. ต้อยติ่งทั้งต้นเอาชนิดที่ไม่แก่ ดอกยังไม่ร่วงโรย นำมาถอนเอาทั้งรากไม่ให้รากขาดและอย่าให้เมล็ดแตก ประมาณ 4-5 ต้น แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด โขลกต้นเอาแต่น้ำมาดื่ม จะช่วยแก้อาการปวดเข่า ขาชา ร้าวลงได้ ซึ่งใช้เวลาในการรักษาเพียง 7 วันก็หาย (ทั้งต้น)
  6. รากใช้ผสมเป็นยาแก้พิษ ดับพิษ และทำเป็นยาเบื่อ (ราก)
  7. ประโยชน์ของต้อยติ่ง ฝักใช้เป็นของเล่นของเด็ก ๆ ด้วยการสะสมฝักแก่จัด (สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ) เก็บไว้ในที่แห้ง เมื่อมีโอกาสก็นำมาจุ่มน้ำ (หรือน้ำลาย) แล้วเอาไปโยนใส่เพื่อน ๆ สักพักหนึ่งฝักก็จะแตกตัวออกดังแป๊ะ พร้อมกับดีดเมล็ดออกโดยรอบ ทำให้เพื่อนตกใจหรือเจ็บ ๆ คัน ๆ หรือบางครั้งก็แอบเอาไปใส่ในกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง หรือแม้แต่คอเสื้อ ซึ่งแม้จะรู้ตัวแต่ก็มักจะเอาออกไม่ทัน ฝักก็จะแตกออกเสียก่อน (ฝัก)
  8. แหล่งอ้างอิง : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5, ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, เว็บไซต์ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (เดชา ศิริภัทร), หนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2516, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

ต้น นูดพระ

นูดพระ
นูดพระ ชื่อวิทยาศาสตร์ Flemingia strobilifera (L.) R. Br. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Maughania strobilifera (L.) J. St.-Hil. ex Kuntze)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Flemingia strobilifera (L.) W.T.Aiton (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Moghania strobilifera (L.) J.St.-Hil., Moghania strobilifera (L.) Jacks.)

โดยจัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)

สมุนไพรนูดพระ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ดัง (นครพนม), หงอนไก่ (ภาคเหนือ) ส่วนที่นครศรีธรรมราชเรียกว่า “นูดพระ” เป็นต้น[
ลักษณะของนูดพระ

ต้นนูดพระ จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 80-150 เซนติเมตร ตามกิ่งก้านและลำต้นมีขน มักขึ้นตามที่โล่งแจ้งและที่มีร่มเงา ที่ระดับความสูงประมาณ 200-450 เมตร
ต้นนูดพระ

ใบนูดพระ ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อยใบเดียว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบมน โคนใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเรียบ ส่วนด้านล่างมีขนละเอียดขึ้นปกคลุม มีหูใบเป็นรูปใบหอกปลายเรียวแหลม ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร

ใบนูดพระ
ดอกนูดพระ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกมีใบประกอบเป็นรูปเกือบกลมถึงรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร บางคล้ายเยื่อมีลักษณะม้วนพับและติดทน ส่วนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวครีม มีลายเส้นสีชมพู ลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันสองกลุ่ม รังไข่มีขน

ดอกนูดพระ
ผลนูดพระ ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปขอบขนาน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ด 2 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล ลักษณะเป็นรูปวงกลม

ผลนูดพระ
สรรพคุณของนูดพระ
ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากนูดพระ นำมาต้มกับน้ำดื่มและอาบแก้อาการปวดเมื่อย (ราก)

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สร้อยสยามพรรณไม้หนึ่งเดียวในโลก

สร้อยสยาม" พรรณไม้หนึ่งเดียวในโลก ออกดอกพวงระย้าบนลานร่องกล้า

สร้อยสยามพรรณไม้หนึ่งเดียวในโลก พรรณไม้ต้นนี้ จากที่พบเฉพาะถิ่นเดียวที่ ภูเมี่ยง จ.พิษณุโลก ณ สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แม่หลวงของปวงชนชาวไทย โดยมีพระราชประสงค์จะอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าต้นน้ำ

ปัจจุบันนอกจากที่สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก แล้ว เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ได้นำพันธุ์มาทดลองปลูกยังบริเวณที่ทำการอุทยานฯ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา

ปรากฏว่าจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น และ ความสูงจากรับน้ำทะเลที่มากพอ ทำให้ดอกสร้อยสยาม สามารถเติบโตและออกช่อดอกสีสันที่สวยงามเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ทางอุทยานฯ ได้จัดให้เจ้าหน้าที่ ได้แนะนำพรรณไม้ดังกล่าว ให้แก่นักท่องเที่ยวเนื่องจากนักท่องเที่ยวเห็นว่า มีดอกที่สวยงาม ออกดอกเป็นพวงระย้าสีชมพูสวยงาม สำหรับนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นมาชมได้หน้าหนาวนี้ ณ ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

สำหรับ ดอกสร้อยสยามพรรณ เป็นพรรณไม้ที่พบว่ามีหนึ่งเดียวในโลก ที่ จ.พิษณุโลก มีชื่อเรียกอีกคือ ชงโคสยาม และ เสี้ยวแดง มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นไม้เลื้อย เนื้อแข็ง สามารถเลื้อยได้ไกลกว่า 5-8 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง หูใบรูปทรงกลมถึงรูปไข่กลับ ใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแยกเป็น 2 แฉกลึกคล้ายใบต้นชงโคทั่วไป ดอกเป็นดอกช่อ ดอกย่อยสีชมพู ออกดอกช่วงหน้าหนาว นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเลื้อยแต่งรั้วหรือซุ้ม พบครั้งแรกในประเทศไทย
เมื่อปี 2544 ในเขตเทือกเขาของจังหวัดพิษณุโลก โดยนายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ ชื่อชนิดตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทย.

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ดอกโฮย่าลูกศร

อยู่โดดเดี่ยวในป่าดงดิบที่จังหวัดระนอง@@@@

ดอกโฮย่าลูกศร หรือ ต้างไม้พันงู หรือ ฟันงู หรือ ต้าง

ดูรูปใกล้เข้ามาอีกนิดครับ ดอกสวย แต่เขาว่าไม่มีกลิ่นครับ

ลักษณะการขึ้นของโฮย่าชนิดนี้ ต้นนี้พบบนคาคบไม้สูงราวๆ 5 เมตร จากพื้นดิน

ชื่อไทย ต้างไม้พันงู หรือ ต้าง หรือเรียกตามลักษณะดอกว่า โฮย่าลูกศร

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hoya multiflora Blume

วงศ์ ASCLEPIADACEAE

ลักษณะ เป็นไม้เลื้อยกึ่งพุ่ม ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน รูปยาวแคบแกมขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบเรียบ มีขนาดกว้าง 2.5-6.5 ซม. ยาว 7.5-20 ซม. ผิวเกลี้ยง ก้านใบยาว 0.8-1.2 ซม. ดอกสีขาวครีม ออกเป็นช่อตามง่ามใบและปลายยอด มีดอกจำนวนมาก ก้านช่อยาว 2.5-3 ซม. ก้านดอกเรียวเล็ก ยาว 5-6 ซม. ดอกย่อยมีกลีบดอก 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก สีเหลือง กลีบกว้างประมาณ 4 มม. ยาว 12 มม. เมื่อบานกลีบดอกจะกลับลงข้างล่าง ที่โคนดอกมีเส้าเกสรเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงสูง มีรยางค์ปลายแหลมงอน 5 อัน ผิวมันเป็นเงา ผลเป็นฝักคู่ ขนาดกว้าง 6-8 มม. ยาว 18-20 ซม. เปลือกบางเรียบ เมล็ดรูปขอบขนาน มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 6 มม. ปลายตัดตรง มีขนเป็นมันเหมือนไหมติดเป็นกระจุก ผิวสีน้ำตาล

การกระจายพันธุ์ และนิสัย พบขึ้นกระจายพันธุ์ในอินเดีย พม่า ไทย อินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบในป่าดิบชื้น ตามคาคบไม้ หรือซอกหิน ใกล้ริมลำธาร

ระยะออกดอก-ผล ออกดอกติดผลเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน

ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ น้ำภายในต้นใช้ขับปัสสาวะ ใบบดละเอียดใช้ทาแก้เคล็ดบวม แก้ปวดข้อ

ที่มาของข้อมูล ฐานข้อมูลพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

การไปเที่ยวป่า ทำให้เราพบสิ่งบันเทิงใจหลายอย่าง ทั้งนก ต้นไม้ ดอกไม้

โปรดช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ เพื่อที่ลูกหลานของเราจะได้ชื่นชมสิ่งสวยๆ งามๆ บ้างนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ตำนาน ต้นไม้กินคนแห่งมาดากัสก้า


ำนาน “ต้นไม้กินคน” แห่งมาดากัสก้า
เรื่องเล่าที่เชื่อกันว่าหมู่เกาะแห่งนี้ มีต้นไม้กินคนอยู่
โลกของเรามีต้นไม้แปลกๆ อยู่มากมาย ทั้งที่ถูกคค้นพบแล้วละที่เป็นต้นไม้ที่เกิดจากคำบอกเล่า หรือตำนานต่างๆ อาทิเช่น ปริศนาเรื่องราวของต้นไม้กินคนแห่งมาดากัสก้า นั้นเอง นี่คือเรื่องเล่าขานของคนในแถบนั้น ซึ่งมีการพยายามค้นหาความจริงเกี่ยวกับต้นไม้ดังกล่าวจริงๆ จนมีการตั้งข้อสงสัยว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่กันแน่

โดยตำนาน “ต้นไม้ปริศนาแห่งมาดากัสก้า” มีที่มาจากนักเดินทางชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 19 ชื่อ คาร์ล ลิช เขาได้เขียนจดหมายที่มีใจความน่าสนใจเกี่ยวกับต้นไม้ปริศนาต้นหนึ่งที่อยู่บนหมู่เกาะมาดากัสก้าให้กับ ดร.โอเม โลดเฟรสกี้ ผู้เป็นเพื่อนของเขา โดยเนื้อความจดหมายพูดถึง ชาวปิ๊กมี่เผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะมาดากัสก้า ที่มีพิธีกรรมบูชาต้นไม้ประหลาดต้นหนึ่ง โดยในพิธีกรรมนั้นพวกชาวบ้านจะนำคนที่เป็นเหยื่อมาบูชายัญให้กับต้นไม้ต้นดังกล่าว ก่อนที่ต้นไม้ดังกล่าวจะรัดเหยื่อที่เป็นมนุษย์จนขาดใจตายไป จากนั้นชาวบ้านก็จะพากันมาดื่มน้ำจากต้นไม้ปริศนาต้นดังกล่าวโดยน้ำที่ได้จากต้นไม้ต้นดังกล่าวนั้นจะมีสีเหมือนน้ำผึ้งผสมกับเลือดและมีฤทธิ์ที่ทำให้ผู้ดื่มตกอยู่ในอาการมึนเมา พอเวลาผ่านไปได้ซักระยะ คาร์ล ลิช ก็ได้กลับไปสำรวจต้นไม้ดังกล่าวแต่สิ่งที่เขาพบนั้นมีเพียงหัวกะโหลกสีขาวที่วางอยู่ข้างต้นไม้เท่านั้น

โดยเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารของประเทศเยอรมันในปี 1878 จากนั้นก็มีผู้นำเอาบทความดังกล่าวไปแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย ส่งผลให้เรื่องราวของต้นไม้กินคนนั้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจในสายตาของชาวโลกว่าต้นไม้ที่ว่านี้มีอยู่จริงๆ หรือไม่ แล้วถ้าต้นไม้ต้นดังกล่าวนี้มีอยู่จริงมันอยู่ที่ไหนในหมู่เกาะมาดากัสก้ากันแน่ แต่นักพฤกศาตร์บางกลุ่มก็ออกมาโต้แย้งถึงประเด็นการมีอยู่ของต้นไม้ดังกล่าวว่าเป็นเรื่องเหลวไหลและเป็นไปไม่ได้ที่จะมีต้นไม้ดังกล่าวจริงบนโลก อีกทั้งนักผจญภัยที่ชื่อว่า คาร์ล ลิช นั้นเป็นใครก็ไม่รู้ นักพฤกษศาสตร์จึงพากันตัดสินใจลงความเห็นตามๆกันว่า เรื่องราวของต้นไม้กินคนนั้นเป็นแค่เรื่องโกหก

แต่ในปี 1920 หนังสือพิมพ์ในอเมริกาก็ได้จับเอาประเด็นดังกล่าวมาเขียนอีกครั้ง จนกลายเป็นกระแส ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้น ได้มีผู้ที่ชื่นชอบความลี้ลับของต้นไม้ปริศนาต้นนี้เดินทางไปสำรวจกันมากมายในบริเวณหมู่เกาะมาดากัสก้า ไม่ว่าจะเป็นท่านผู้ว่าแห่งมลรัฐมิชิแกน เชส ออสบอร์น หรือนักเดินทางอีกคนอย่าง แอล เฮิร์ส ที่ลงทุนเดินทางไปยังหมู่เกาะมาดากัสก้าเพื่อตามหาความจริงในเรื่องดังกล่าวแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการค้นหาต้นไม้กินคนต้นดังกล่าวทั้งคู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงสร้างปริศนาให้กับผู้คนที่สนใจในประเด็นดังกล่าวก็คือการให้การจากปากคำของผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะดังกล่าว 

โดยชาวเผ่าทุกคนต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าต้นไม้ต้นดังกล่าวนั้นมีอยู่จริงและพวกเขาเหล่านั้นต่างก็เคยพบกับต้นไม้ดังกล่าวมาแล้ว

สำหรับเหล่านักพฤกษศาสตร์นั้นยังคงยืนยันกันตามเดิมว่าต้นไม้ดังกล่าวนั้นไม่มีอยู่จริงและประกาศว่าถ้าหากใครก็ตามที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าต้นไม้กินคนนั้นมีอยู่จริงจะได้รับเงินรางวัลเป็นจำนวนถึงหนึ่งหมื่นเหรียญเลยทีเดียว จึงทำให้เรื่องนี้ยังคงเป็นความลับต่อไป
ดอก...ที่รัก

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ดอกเดซี่กลายพันธุ์ อ้างถูกพบใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ


แห่แชร์ดอกเดซี่กลายพันธุ์ อ้างถูกพบใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
ชาวญี่ปุ่นแห่แชร์และวิจารณ์เรื่องพบภาพ "ดอกเดซี่" กลายพันธุ์ซึ่งอ้างว่าถูกพบใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

วันนี้(23ก.ค.) ชาวญี่ปุ่นแห่แชร์และวิจารณ์เรื่องพบภาพ "ดอกเดซี่" กลายพันธุ์ซึ่งอ้างว่าถูกพบใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะซึ่งถูกทำลายจากภัยสึนามิเมื่อปี 2011 หลุดว่อนเน็ต

สำหรับภาพดังกล่าวถูกโพสต์โดยผู้ใช้งานทวิตเตอร์นามว่า @san_kaido เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาพร้อมข้อความระบุว่า

ดอกไม้ด้านขวาเติบโตขึ้นก่อนแยกออกเป็น 2 ลำต้น ซึ่งแต่ละดอกได้ผูกติดกันจนมีรูปร่างคล้ายกับหัวเข็มขัด ขณะที่ทางด้านซ้ายมี 4 ลำต้นผูกติดกันโดยดอกไม้มีลักษณะคล้ายกับแหวน โดยวัดค่าปริมาณรังสีเหนือพื้นดิน 1 เมตรได้ที่ระดับ 0.5  μSv/h

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

Bloodwood ต้นไม้ลึกลับที่มีความหวาดกลัว และหลั่งเลือดได้


จริงหรือที่ต้นไม้ไร้ความรู้สึก พบกับต้นไม้ที่มีความหวาดกลัว และหลั่งเลือดได้ มันคือต้น Bloodwood
อาจเป็นความเชื่อของคนจำนวนมากที่เชื่อว่าต้นไม้และพืชใบเขียวทั้งหลายนั้นไร้ความรู้สึก และเผลอๆ อาจจะไม่เจ็บปวดเหมือนสิ่งมีชีวิตที่มีเลือดทั่วไป 

แต่ถ้าพวกเขาได้รู้จักกับต้นไม้ท้องถิ่นของแอฟริกาที่ชื่อว่า Bloodwood งานนี้คงต้องมีการทบทวนความคิดนี้กันใหม่ เพราะนอกจากมันจะเป็นต้นไม้ที่หลั่งเลือดได้แล้ว นี่คือต้นไม้ที่แสดงความเจ็บปวดออกมาได้เหมือนสิ่งมีชีวิตอีกต่างหาก

เฮ้ย?ต้นไม้บ้าอะไรจะหลั่งเลือดได้!? กำลังคิดกันอย่างงี้ใช้มั๊ยล่ะ ซึ่งจะว่าไปก็ดูเวอร์จริงๆ นั่นแหละ เพราะที่บอกว่าเป็นการหลั่งเลือดนั้น ก็เป็นแค่ยางไม้ที่ต้นไม้ขับออกมาเท่านั้น 

แต่จากข้อมูลของ Institute for Applied Physics at the University of Bonn ในเยอรมนีพบว่าการปล่อยยางของต้น Bloodwood นั้นจากจะแปรผันตามขนาดของรอยตัดแล้ว ทุกครั้งที่ตัด…เขาสามารถบันทึกเสียงที่ดังออกมาจากต้นไม้ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัย University of Georgia ที่ทำการตรวจสอบสารเคมีต่างๆ จากลำตัน ใบ และรากของต้นไม้ที่มักเปลี่ยนไปเมื่อถูกคุกคามโดยอะไรก็ตามที่จะมาทำร้ายมัน และจากการตรวจสอบเจ้าต้น Bloodwood นี้ พบว่ามันมีปฏิกริยาเคมีที่เปลี่ยนไปอย่างรุนแรงมาก ราวกับว่ามันกำลังแสดงความกลัวต่อสิ่งที่มันกำลังจะเผชิญ ซึ่งนั่นยังส่งผลต่อปริมาณยางที่มันหลั่งออกมาด้วย

งานนี้คงต้องทบทวนกันใหม่แล้วล่ะ ว่าตกลงพืชผักที่เรากินกันนั้นมันมีชีวิตจิตใจด้วยหรือเปล่า!?

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ต้นเสียวใหญ่

ต้นเสียวใหญ่
ชื่อสมุนไพรเสียวใหญ่

ชื่ออื่นๆไคร้หางนาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เสียวน้อย เสียวเล็ก (ขอนแก่น) เสียวหางนาค (อุบลราชธานี) เสียวน้ำ (อุบลราชธานี ปราจีนบุรี) ตะไคร้หางสิงห์ (สุพรรณบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Phyllanthus taxodiifolius Beille
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์
Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มรอเลื้อยขนาดเล็ก สูงประมาณ 2 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นสันเหลี่ยมสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน ออกหนาแน่น ใบมีขนาดเล็ก รูปขอบขนาน กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ปลายใบมนและเป็นติ่ง โคน

*ใบมนเบี้ยว หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบเรียบสีอ่อนกว่า แผ่นใบแผ่บาง ใบอ่อนสีแดง หูใบรูปใบหอก ยาว 1-2 มิลลิเมตร เส้นแขนงใบข้างละ 3-4 เส้น เส้นร่างแหเห็นไม่ชัดเจน ก้านใบสั้นมาก 

*ดอกออกเดี่ยวๆที่ซอกใบ ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น ดอกย่อยสีขาวนวล ดอกเพศผู้ออกเดี่ยวๆตามซอกใบ มีกลีบรวม 4 กลีบ รูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 2 มิลลิเมตร จานฐานดอก 4 อัน เป็นตุ่ม เกสรเพศผู้ 2 อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันที่โคนเป็นเส้าเกสรสั้น ๆ ดอกเพศเมียมีกลีบรวม 6 กลีบ ขนาดเล็ก รูปรีหรือรูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร จานฐานดอกเป็นกาบรูปถ้วย จักเป็นครุย รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น 3 อัน ยาว 0.2-0.3 มิลลิเมตร 

*ผลแห้งแตกแบบแคปซูล ออกเป็นกระจุกหรือเดี่ยว ทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 มิลลิเมตร มีแนวพู 8 พู ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผิวเกลี้ยง สีเขียว เปลือกนอกมีผิวบาง ก้านยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เมล็ดมีสามสัน ขนาดเล็ก จำนวน 8-10 เมล็ด กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร มีเส้นใยฝอย พบที่ระดับสูงจากระดับน้ำทะเล 500-800 เมตร ออกดอกราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ติดผลราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม

สรรพคุณ   ตำรายาพื้นบ้านอีสาน ราก ต้มน้ำดื่ม แก้มดลูกอักเสบ
              
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีใช้ ราก เข้ายากับเสี้ยวใหญ่ และเสี้ยวน้อย ต้มน้ำดื่ม แก้ไตพิการ ลำต้น เข้ายากับเสี้ยวน้อย และดูกข้าว ต้มน้ำดื่ม แก้ปวด

ตำรายาไทย ไม่ระบุส่วนที่ใช้ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้เลือดออกตามไรฟัน

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ต้นสมุนไพรขลู่ และสรรพคุณ


ชื่อสมุนไพรขลู่
ชื่ออื่นๆหนาดงั่ว หนวดงิ้ว หนาดวัว (อุดรธานี) เพี้ยฟาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ขลู คลู(ใต้) 
ขี้ป้าน(แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pluchea indica (L.) Less.
ชื่อพ้อง Pluchea foliolosa DC., corymbosa Roxb., Conyza indica Mig., Baccharis indica Linn.
ชื่อวงศ์ Compositae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์             
ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร ขึ้นเป็นกอ แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นกลมสีน้ำตาลแดง หรือเขียว ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดปกคลุม ใบเดี่ยว ออกแบบสลับ รูปไข่กลับ กว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 2.5-10 เซนติเมตร ปลายใบมน ปลายใบมีขนาดใหญ่กว่าโคน

*ใบ โคนใบสอบ ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย โดยรอบมีขนขาวๆปกคลุม ก้านใบสั้นมาก เนื้อใบบาง แผ่นใบเรียบเป็นมัน ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ ใบมีกลิ่นหอมฉุน 

*ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือตามซอกใบ รูปกลม หลายๆช่อมารวมกัน ดอกเป็นฝอยสีขาวนวลหรือสีขาวอมม่วง กลีบดอกแบ่งออกเป็นวงนอกกับวงใน กลีบดอกวงนอกสั้นกว่าวงใน กลีบดอกวงในเป็นรูปท่อ ดอกวงนอกกลีบดอกยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ดอกวงใน กลีบดอกจะเป็นรูปท่อมีความยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ปลายจักเป็นซี่ฟัน ประมาณ 5-6 ซี่ ภายในมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียสีขาวอมม่วงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ปลายกลีบดอกหยักเป็นซี่ฟัน 5-6 หยัก อับเรณูตรงโคนเป็นรูปหัวลูกศรสั้นๆ เกสรตัวเมียแยกเป็น 2 แฉกสั้นๆ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ไม่มีก้านดอกย่อย ริ้วประดับมีลักษณะแข็ง สีเขียว และเรียงกันประมาณ 6-7 วง วงนอกเป็นรูปไข่ วงในคล้ายรูปหอกแคบ ปลายแหลม

*ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก รูปทรงกระบอก ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ผลเป็นสัน มีขนาดเล็กมาก มีเหลี่ยม 10 สัน มีรยางค์ไม่มาก สีขาว ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร เมล็ดมีลักษณะเป็นฝอยเล็กๆ เมื่อแก่จะปลิวไปตามลม ยอดมีรสมันใช้รับประทานเป็นผักสด พบชอบขึ้นตามธารน้ำ ที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะที่ที่น้ำเค็มขึ้นถึง 
*ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มได้ ใบเมื่อนำมาผึ่งให้แห้ง จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง ใช้ชงดื่มแทนชา

สรรพคุณ                  
*ตำรายาไทย  ใช้ ใบ รสหอมฝาดเมาเค็ม เป็นยาขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน ขับนิ่ว นำใบสดแก่ นำมาตำแล้วบีบเอาน้ำ ทาตรงหัวริดสีดวงทวาร ทำให้หัวริดสีดวงหดหายไป 
*แก้กระษัย ยาอายุวัฒนะ สมานภายนอกและภายใน แก้ไข้ ขับเหงื่อ นำใบมาตำผสมกับเกลือกินรักษากลิ่นปาก และระงับกลิ่นตัว 
*นำใบมาต้มดื่มแทนชาลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวดเมื่อย มุตกิด น้ำคั้นจากใบสดรักษาริดสีดวงทวาร ใบต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน บำรุงประสาท เป็นยาบีบมดลูก น้ำคั้นใบสดรักษาริดสีดวงทวาร โรคบิด   
*ใบและต้นอ่อน บรรเทาอาการปวดข้อ ในโรคไขข้ออักเสบ รักษาประดง เลือดลม ตำผสมกับแอลกอฮอล์ ทาหลังบริเวณเหนือไต บรรเทาอาการปวดเอว ต้มน้ำอาบรักษาหิด ขี้เรื้อน ใบและราก เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ขับเหงื่อ พอกแก้แผลอักเสบ ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำอาบรักษาเส้นตึง และทำเป็นขี้ผึ้งทาแผลเรื้อรัง *เปลือกต้น นำมาสับเป็นชิ้นมวนบุหรี่สูบแก้โพรงจมูกอับเสบ (ไซนัส) ดอก รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้นิ่ว ราก รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้กระษัย ขับนิ่ว ทั้งต้น รสหอมฝาดเมาเค็ม ใช้ต้มกินรักษาอาการขัดเบา แก้นิ่วในไต ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ริดสีดวงทวาร แก้มุตกิดระดูขาว แก้ตานขโมย แก้เบาหวาน รักษาวัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง ต้มอาบ แก้ผื่นคัน แก้ประดง เลือดลม และแก้โรคผิวหนัง เปลือกต้น รสเมาขื่นหอม แก้ริดสีดวงจมูก ริดสีดวงทวาร แก้กระษัย ขูดเอาขนออกให้สะอาด ลอกเอาแต่เปลือก หั่นเป็นเส้นมวนสูบ แก้ริดสีดวงจมูก หรือต้มรมริดสีดวงทวารหนัก
ชาขลู่
องค์ประกอบทางเคมี            
พบสารอนุพันธ์ของ eudesmane  กลุ่ม cauhtemone และพบเกลือแร่ sodium chloride เนื่องจากชอบขึ้นที่น้ำทะเลขึ้นถึง

ข้อมูลเครื่องยา :           www.thaicrudedrug.com
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ดอกไม้จันทน์คือ


ในสมัยก่อนนั้นการจัดงานศพ ยังไม่มีการฉีดยา หรือยังไม่มีวิธีการที่จะรักษาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็น ดังนั้น ในการเผาศพ จึงต้องใช้ดอกไม้จันทน์ซึ่งทำมาจากไม้จันทน์  อันเป็นไม้ที่มีกลิ่นหอม 

ซึ่งในสมัยก่อนจะนิยมใช้ดอกไม้จันทน์ควบคู่กับธูปทองและเทียนทอง เพราะเชื่อว่ากลิ่นหอมของดอกไม้จันทน์จะนำดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปสู่สวรรค์ แต่การใช้ดอกไม้จันทน์สมัยก่อนจำกัดในวงแคบ ใช้เฉพาะผู้มีตระกูลสูงเท่านั้น สามัญชนจะใช้ไม่ได้ เพราะดอกไม้จันทน์เป็นของสูง ต้องห้าม และมีราคาแพง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากดอกไม้จันทน์เริ่มหายากขึ้น กรมพระยาดำรงราชนุภาพจึงได้คิดค้นให้ใช้ไม้จันทน์ทำเป็นแผ่นบางๆ มัดเป็นช่อเรียกว่าดอกไม้จันทน์เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานศพได้นำไปวางที่เผาศพ   ต่อมาจึงแผ่ขยายการใช้ดอกไม้จันทน์ในหมู่สามัญชน เนื่องจากไม้จันทน์นั้นหายากและไม่มี  

จึงมีการนำไม้โมกมาทำแผ่นบางๆ เป็นดอกไม้จันทน์เทียม และเริ่มมีธรรมเนียมการใช้ดอกไม้จันทน์เทียมในหมู่สามัญชน และนิยมใช้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ต่อมาไม้โมกเริ่มหายากและมีราคาแพง จึงเปลี่ยนไปใช้วัสดุอย่างอื่นที่หาง่ายและมีราคาถูก 

รูปแบบของดอกไม้จันทน์ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย แบบที่นิยมใช้ส่วนมากเป็นแบบธรรมดา ทำเป็นรูปดอกกุหลาบ ดอกแก้ว สีขาว สีครีม และสีดำ แต่ในปัจจุบันทั้งรูปแบบ สีสัน และราคาของดอกไม้จันทน์เปลี่ยนแปลงไปมากตามความต้องการของยุคสมัย และผู้คนที่มีความหลากหลายมากขึ้น 

รวมถึงทัศนคติของคนใช้ดอกไม้จันทน์เปลี่ยนไปเป็นการแสดงความเคารพรักและระลึกถึงผู้ที่ตนรักเป็นครั้งสุดท้าย สีสันและความสวยงามของดอกไม้จันทน์จึงมีความสำคัญมากขึ้น 

วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เสาวรส ผลไม้ชนิดนี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย


คุณกล้าทานเสาวรสมั้ย? รีบมาดูเร็ว เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือนนะ!
กดถูกใจเลย เราจะทำให้คุณมีความสุขมากขึ้นทุกวัน!
จริงๆแล้วเสาวรสเป็นแบบนี้

คุณชอบทาน "เสาวรส" มั้ย? ผลไม้ชนิดนี้มีผลต่อร่างกายคุณนะ รีบมาดูเร็ว~
เสาวรสเป็นผลไม้ที่มาจากบราซิล แถมมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายถึง 17 ชนิดนอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็กและแร่ธาตุอื่น ๆ เสาวรสมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาเลยทีเดียวนะ

1. เสาวรสช่วยอาการเจ็บคอ
เสาวรสสามารถลดอาการไอและเสมหะ ช่วยแก้ปวด ต้านการอักเสบ ขูดเนื้อเสาวรสผสมกับพุทราจีน เพิ่มน้ำต้มอุ่น และใส่น้ำผึ้ง

2. เสาวรสเพิ่มภูมิคุ้มกัน
เสาวรส 100 กรัมมีวิตามินซี = ส้ม 8 ลูก วิตามินอี = แอปเปิ้ล 10 ลูก  ขูดเนื้อเสาวรส 3 ช้อน ผสมในน้ำเย็น 200 มล. เพิ่มน้ำผึ้งและมะนาว

3. เสาวรสช่วยลดความดันโลหิต
เสาวรสนอกเหนือไปจากมีวิตามินมากมายแล้ว ยังสามารถลดไขมันในเลือดและความดันโลหิตได้ด้วย

4. เสาวรสทำให้ผู้หญิงสวยขึ้น
ชงน้ำเสาวรสและพุทราจีนดื่ม ทำให้ผู้หญิงมีผิวพรรณที่ดีขึ้น

5. เสาวรสทำให้ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็ง
เสาวรสมีประโยชน์หลายอย่าง สามารถใช้ดีท็อกซ์ร่างกาย และล้างสารที่ไม่ดีที่สะสมในร่างกาย

6. เสาวรสช่วยสร่างเมา
เนื้อเสาวรส นม กล้วยปอกเปลือก หลังจากนั้นปั่นเข้าด้วยกัน  เป็นเครื่องดื่มน้ำผลไม้ที่สามารถช่วยแก้อาการเมาค้าง

7. เสาวรสทำให้รูปร่างดีขึ้น
ทานเสาวรสสามารถทำให้อิ่ม  ลดปริมาณแคลอรี่ ช่วยการดูดซับ และปรับโครงสร้างการย่อยอาหาร ลดไขมันในร่างกาย ทำให้มีรูปร่างที่สวยงาม

8. เสาวรสทำให้หลับได้ดีขึ้น
เสาวรสเป็นยากล่อมประสาทแบบธรรมชาติ มีความผ่อนคลาย สงบ ใช้สามารถช่วยเรื่องการนอนหลับ ช่วยให้นอนหลับลึก ขูดเนื้อเสาวรสผสมกับโยเกิร์ตเสาวรสและเพิ่มน้ำผึ้ง

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

พญากาหลง


ไม้ต้นนี้ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับต้น ชงโคดอกเหลือง หรือ โยทะกา และ เสี้ยวดอกเหลือง 

เพียงแต่ “พญากาหลง” จะมีความแตกต่างคือ เวลามีดอกครั้งแรกสีของดอกจะเป็นสีเหลืองเหมือนกัน จากนั้น 3-5 วัน สีเหลืองของดอกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มมองเห็นชัดเจน ทำให้ “พญากาหลง” ต้นเดียวมีดอก 2 สี 
ดูสวยงามมาก 

ซึ่งต้น “พญากาหลง” นิยมปลูกในบริเวณบ้านร้านค้าทั่วไป เนื่องจากมีความเชื่อว่า ปลูก “พญากาหลง” แล้วจะช่วยให้อยู่ดีมีสุขและค้าขายคล่องขึ้น นั่นเป็นความเชื่อมาแต่โบราณ ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่

พญากาหลง หรือ BAUHINIA TOMEN TOSA LINN. ชื่อสามัญ ST.THOMAS TREE, YELLOW ORCHID TREE อยู่ในวงศ์ LEQUMINOSAE เป็นไม้พุ่มสูง 1.5-3 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปค่อนข้างกลม ปลายเว้าลึกดูคล้ายใบชงโคหรือใบส้มเสี้ยว ด้านหลังมีขนเล็กน้อย ใบเมื่อขยี้จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สีเขียวสด ใบดกน่าชมยิ่งนัก

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย 2-3 ดอก ห้อยลง มีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อแรกมีดอกสีของดอกจะเป็นสีเหลือง จากนั้นสีของดอกจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มดูสวยงามตามที่กล่าวข้างต้น ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-4.5 ซม. มีเกสรตัวผู้ 10 อัน 

เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะมีดอกเป็น 2 สี แปลกตาน่าชมยิ่งนัก “ผล” เป็นฝักแบน มีหลายเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง

ต้น โยทะกา


โยทะกา : น้องเล็กของสามใบเถา สกุลใบแฝด
“แก้วกาหลงชงโค ยี่สุ่นยี่โถโยธกา” (ลิลิตเตลงพ่าย)
                                                                         
ข้อความที่ยกมาข้างบนนี้  คัดมาจากวรรณคดียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์  เรื่องเตลงพ่าย  เป็นบทชมสวนไม้ดอก

ทุกคำที่ปรากฏล้วนเป็นชื่อต้นไม้ดอกที่นิยมปลูกกันในสมัยนั้นทั้งสิ้น รวม ๖ ชนิด ได้แก่ แก้ว กาหลง ชงโค ยี่สุ่น ยี่โถและโยธกา (หรือโยทะกา)
      
ต้นไม้ที่เอ่ยชื่อมานี้ถูกนำมาเขียนถึงในคอลัมน์ “ต้นไม้ใบหญ้า” แล้วโดยตรง ๔ ชนิด คือ แก้ว กาหลง ชงโค และยี่สุ่น
     
ยี่สุ่นถูกนำมาเขียนทางอ้อมอีก ๑ ชนิด เพราะยี่สุ่น หมายถึง ผกากรอง หรือกุหลาบที่มีดอกขนาดเล็ก
     
ดอกไม้อีกชนิดเดียวที่ยังไม่ได้เขียนถึง นั่นคือโยธกา หรือที่เขียนในปัจจุบันว่า โยทะกา นั่นเอง

น่าสังเกตว่าในต้นไม้ทั้ง ๖ ชนิดนี้ มีอยู่ ๓ ชนิดที่มีความใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง  ทั้งยังมีชื่อคล้องจองกันด้วย  หากเป็นลูกสาวก็ต้องเรียกว่าเป็น “สามใบเถา” หมายถึง พี่น้องผู้หญิง ๓ คนเรียงกัน คนไทยให้ความสนใจกับพี่น้องสามสาวที่เกิดมาเรียงต่อกันมากกว่าจำนวนอื่น เพราะไม่นิยมเรียกจำนวนอื่นๆ ว่าเป็นเถาอีก ไม่ว่าจะเป็น ๒ ๔ ๕ ๖ หรือ ๗ คน เหมือนลูกสาวท้าวสามล ในเรื่องสังข์ทอง ก็ไม่เรียกว่า “เจ็ดใบเถา” แต่อย่างใด
     
ต้นไม้ ๓ ชนิดที่ประกอบกันเป็น “สามใบเถา” ในที่นี้ก็คือ กาหลง ชงโค และโยทะกา

(โยธกา) คอลัมน์นี้นำเสนอเรื่องกาหลง (กันยายน ๒๕๔๗) และชงโค (ตุลาคม ๒๕๔๘) ไปแล้ว ฉบับนี้เสนอเรื่องของโยทะกา เพื่อให้ครบถ้วนตามจำนวน “สามใบเถา”
                                                                              
โยทะกา : น้องสุดท้องในสกุลใบแฝด
โยทะกา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia monandra kurz อยู่ในวงศ์ (AESALPINIACEAE และอยู่ในสกุล BAUHINIA เช่นเดียวกับกาหลงและชงโค) จึงมีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะลักษณะใบ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายรอยเท้าโคหรือใบแฝด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของต้นไม้สกุลนี้
     
โยทะกาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบรูปไข่ค่อนข้างกลม ปลายและโคนใบเว้าลึก มองเหมือนใบแฝดติดกัน เช่นเดียวกับใบกาหลงและใบชงโค
     
ดอกใหญ่ออกเป็นช่อ มีกลีบสีเหลือง เมื่อบานได้ ๒ วัน สีกลีบจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม  ทรงดอกเป็น ๕ กลีบ คล้ายดอกกล้วยไม้ เมื่อดอกร่วงหล่นจะติดฝักรูปร่างแบน ยาว ราว ๙-๑๕ เซนติเมตร เมื่อฝักแก่จัดจะแตกออกจากกัน
     
เปลือกของโยทะกาเป็นเส้นใย ใช้ทำเชือกปอได้
มีโยทะกาอีกชนิดหนึ่ง ชื่อ Bauhinia flanifera ride อยู่ในสกุลเดียวกัน เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ซึ่งมีลักษณะอื่นๆ คล้ายคลึงกับโยทะกาชนิดแรก สันนิษฐานว่าคนไทยเรียกชื้อโยทะกาทั้ง ๒ ชนิดนี้รวมๆ กันมาตั้งแต่เดิม เพราะชื่อที่ใช้เรียกตามท้องถิ่นต่างๆ บ้างก็บ่งบอกว่าเป็นไม้เถา เช่น ชงโคย่าน (ตรัง) เถาไฟ (กรุงเทพฯ) เป็นต้น

โยทะกาเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศไทย  เช่นเดียวกับกาหลงและชงโค  พบได้ในป่าธรรมชาติของทุกภาค  จึงปรากฏชื่ออยู่ในวรรณคดีไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังเช่นในสักกบรรพคำฉันท์ ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยา  ตอนหนึ่งบรรยายถึง” ปรูประประยงค์ ชงโคตะโกโยธกา”
     
คำว่า โยทะกา ในอดีตนิยมใช้เขียนว่า “โยธกา” มาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้วจึงเปลี่ยนเป็น “โยทะกา”
     
ในหนังสือ อักขราภิธานศรับ ของหมอบรัดเล พ.ศ. ๒๔๑๖ มีบรรยายว่า “โยทะกา เปนคำเรียกของสำหรับทอดสมอให้เรืออยู่ แต่มันมีสันถานเหมือนหนามต้นโยทะกา”

น่าสังเกตว่าโยทะกาใช้เรียกเครื่องมือที่ใช้ทอดสมอ รูปร่างคล้ายหนามต้นโยทะกา แสดงว่าต้นโยทะกาเป็นที่มาของชื่อนี้  แต่ต้นโยทะกาที่เรารู้จักในปัจจุบัน เป็นพืชไม่มีหนาม  ซึ่งอาจจะเป็นคนละต้นกับโยทะกาของอักขราภิธานศรับหรือต้นโยทะกา อาจมีมากกว่า ๒ ต้นก็ได้ (ในสมัยนั้น) 

ปัจจุบันยังมีโยทะกาสมัยใหม่อีกชนิดหนึ่ง เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก สูง ๒-๕ เมตร ดอกสีเหลืองล้วนตั้งแต่เริ่มบานจนร่วงโรย ลักษณะดอกห่อไม่บานเต็มที่ ดอกออกจากยอดตลอดปี นิยมปลูกในสวนเป็นไม้ประดับ 
มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinisa tomentora Linn
 
ชื่อที่เรียกในเมืองไทยคือ โยทะกา (ภาคกลาง) เถาไฟ (กรุงเทพฯ) ย่ายชิวโค (ตาก) ปอลิง (สุราษฎร์ธานี) ปอโคย่าน (ตรัง) เล็บควายใหญ่ (ยะลา-ปัตตานี) ภาษาอังกฤษเรียก Pink orchid Tree, One – Stemened Bauhinia, Jerusalim Date, Butterfly Flower

ประโยชน์ของโยทะกา
ไม่พบประโยชน์ด้านอื่นๆ ของโยทะกา นอกจากการใช้เป็นไม้ประดับ ซึ่งหากคนไทยรู้จักกาหลงและชงโคแล้วก็ควรจะนำมาปลูกร่วมกันให้ครบทั้ง “สามใบเถา” เพื่อให้พี่น้องได้อยู่ร่วมกัน ดังที่เคยเป็นมาในอดีตอันยาวนาน

รายการบล็อกของฉัน