ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

ต้น โยทะกา


โยทะกา : น้องเล็กของสามใบเถา สกุลใบแฝด
“แก้วกาหลงชงโค ยี่สุ่นยี่โถโยธกา” (ลิลิตเตลงพ่าย)
                                                                         
ข้อความที่ยกมาข้างบนนี้  คัดมาจากวรรณคดียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์  เรื่องเตลงพ่าย  เป็นบทชมสวนไม้ดอก

ทุกคำที่ปรากฏล้วนเป็นชื่อต้นไม้ดอกที่นิยมปลูกกันในสมัยนั้นทั้งสิ้น รวม ๖ ชนิด ได้แก่ แก้ว กาหลง ชงโค ยี่สุ่น ยี่โถและโยธกา (หรือโยทะกา)
      
ต้นไม้ที่เอ่ยชื่อมานี้ถูกนำมาเขียนถึงในคอลัมน์ “ต้นไม้ใบหญ้า” แล้วโดยตรง ๔ ชนิด คือ แก้ว กาหลง ชงโค และยี่สุ่น
     
ยี่สุ่นถูกนำมาเขียนทางอ้อมอีก ๑ ชนิด เพราะยี่สุ่น หมายถึง ผกากรอง หรือกุหลาบที่มีดอกขนาดเล็ก
     
ดอกไม้อีกชนิดเดียวที่ยังไม่ได้เขียนถึง นั่นคือโยธกา หรือที่เขียนในปัจจุบันว่า โยทะกา นั่นเอง

น่าสังเกตว่าในต้นไม้ทั้ง ๖ ชนิดนี้ มีอยู่ ๓ ชนิดที่มีความใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง  ทั้งยังมีชื่อคล้องจองกันด้วย  หากเป็นลูกสาวก็ต้องเรียกว่าเป็น “สามใบเถา” หมายถึง พี่น้องผู้หญิง ๓ คนเรียงกัน คนไทยให้ความสนใจกับพี่น้องสามสาวที่เกิดมาเรียงต่อกันมากกว่าจำนวนอื่น เพราะไม่นิยมเรียกจำนวนอื่นๆ ว่าเป็นเถาอีก ไม่ว่าจะเป็น ๒ ๔ ๕ ๖ หรือ ๗ คน เหมือนลูกสาวท้าวสามล ในเรื่องสังข์ทอง ก็ไม่เรียกว่า “เจ็ดใบเถา” แต่อย่างใด
     
ต้นไม้ ๓ ชนิดที่ประกอบกันเป็น “สามใบเถา” ในที่นี้ก็คือ กาหลง ชงโค และโยทะกา

(โยธกา) คอลัมน์นี้นำเสนอเรื่องกาหลง (กันยายน ๒๕๔๗) และชงโค (ตุลาคม ๒๕๔๘) ไปแล้ว ฉบับนี้เสนอเรื่องของโยทะกา เพื่อให้ครบถ้วนตามจำนวน “สามใบเถา”
                                                                              
โยทะกา : น้องสุดท้องในสกุลใบแฝด
โยทะกา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia monandra kurz อยู่ในวงศ์ (AESALPINIACEAE และอยู่ในสกุล BAUHINIA เช่นเดียวกับกาหลงและชงโค) จึงมีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะลักษณะใบ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายรอยเท้าโคหรือใบแฝด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของต้นไม้สกุลนี้
     
โยทะกาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบรูปไข่ค่อนข้างกลม ปลายและโคนใบเว้าลึก มองเหมือนใบแฝดติดกัน เช่นเดียวกับใบกาหลงและใบชงโค
     
ดอกใหญ่ออกเป็นช่อ มีกลีบสีเหลือง เมื่อบานได้ ๒ วัน สีกลีบจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม  ทรงดอกเป็น ๕ กลีบ คล้ายดอกกล้วยไม้ เมื่อดอกร่วงหล่นจะติดฝักรูปร่างแบน ยาว ราว ๙-๑๕ เซนติเมตร เมื่อฝักแก่จัดจะแตกออกจากกัน
     
เปลือกของโยทะกาเป็นเส้นใย ใช้ทำเชือกปอได้
มีโยทะกาอีกชนิดหนึ่ง ชื่อ Bauhinia flanifera ride อยู่ในสกุลเดียวกัน เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ซึ่งมีลักษณะอื่นๆ คล้ายคลึงกับโยทะกาชนิดแรก สันนิษฐานว่าคนไทยเรียกชื้อโยทะกาทั้ง ๒ ชนิดนี้รวมๆ กันมาตั้งแต่เดิม เพราะชื่อที่ใช้เรียกตามท้องถิ่นต่างๆ บ้างก็บ่งบอกว่าเป็นไม้เถา เช่น ชงโคย่าน (ตรัง) เถาไฟ (กรุงเทพฯ) เป็นต้น

โยทะกาเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศไทย  เช่นเดียวกับกาหลงและชงโค  พบได้ในป่าธรรมชาติของทุกภาค  จึงปรากฏชื่ออยู่ในวรรณคดีไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังเช่นในสักกบรรพคำฉันท์ ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยา  ตอนหนึ่งบรรยายถึง” ปรูประประยงค์ ชงโคตะโกโยธกา”
     
คำว่า โยทะกา ในอดีตนิยมใช้เขียนว่า “โยธกา” มาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้วจึงเปลี่ยนเป็น “โยทะกา”
     
ในหนังสือ อักขราภิธานศรับ ของหมอบรัดเล พ.ศ. ๒๔๑๖ มีบรรยายว่า “โยทะกา เปนคำเรียกของสำหรับทอดสมอให้เรืออยู่ แต่มันมีสันถานเหมือนหนามต้นโยทะกา”

น่าสังเกตว่าโยทะกาใช้เรียกเครื่องมือที่ใช้ทอดสมอ รูปร่างคล้ายหนามต้นโยทะกา แสดงว่าต้นโยทะกาเป็นที่มาของชื่อนี้  แต่ต้นโยทะกาที่เรารู้จักในปัจจุบัน เป็นพืชไม่มีหนาม  ซึ่งอาจจะเป็นคนละต้นกับโยทะกาของอักขราภิธานศรับหรือต้นโยทะกา อาจมีมากกว่า ๒ ต้นก็ได้ (ในสมัยนั้น) 

ปัจจุบันยังมีโยทะกาสมัยใหม่อีกชนิดหนึ่ง เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก สูง ๒-๕ เมตร ดอกสีเหลืองล้วนตั้งแต่เริ่มบานจนร่วงโรย ลักษณะดอกห่อไม่บานเต็มที่ ดอกออกจากยอดตลอดปี นิยมปลูกในสวนเป็นไม้ประดับ 
มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinisa tomentora Linn
 
ชื่อที่เรียกในเมืองไทยคือ โยทะกา (ภาคกลาง) เถาไฟ (กรุงเทพฯ) ย่ายชิวโค (ตาก) ปอลิง (สุราษฎร์ธานี) ปอโคย่าน (ตรัง) เล็บควายใหญ่ (ยะลา-ปัตตานี) ภาษาอังกฤษเรียก Pink orchid Tree, One – Stemened Bauhinia, Jerusalim Date, Butterfly Flower

ประโยชน์ของโยทะกา
ไม่พบประโยชน์ด้านอื่นๆ ของโยทะกา นอกจากการใช้เป็นไม้ประดับ ซึ่งหากคนไทยรู้จักกาหลงและชงโคแล้วก็ควรจะนำมาปลูกร่วมกันให้ครบทั้ง “สามใบเถา” เพื่อให้พี่น้องได้อยู่ร่วมกัน ดังที่เคยเป็นมาในอดีตอันยาวนาน

รายการบล็อกของฉัน