พิศวงรยางค์ พืชลึกลับแปลกตาที่พบได้ที่เขาคอหงส์
ค้นหา
พิศวงเป็นพืชขนาดเล็กในกลุ่ม “พืชล้มลุกกินซากอาศัยเชื้อรา” (mycoheterotrophic herbs) โดยต้นพิศวงจะได้รับอาหารจากการย่อยสลายซากใบ้ไม้กิ่งไม้โดยเชื้อราที่อาศัยอยู่ในต้นและพื้นดินโดยรอบ ใบลดรูปเหลือเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ไม่เป็นสีเขียวเหมือนพืชส่วนใหญ่ที่ใช้การสังเคราะห์ด้วยแสงผลิตอาหาร วงจรชีวิตส่วนใหญ่มีเพียงหัวหรือส่วนต้นใต้ดิน จะโผล่ดอกขึ้นมาให้เห็นบนพื้นป่าแค่ระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงหน้าฝน จึงเป็นพืชที่ค่อนข้างลึกลับและพบได้ยาก ทั่วโลกพบพืชในวงศ์เดียวกันนี้ คือ Thismiaceae ประมาณ 60 ชนิด เฉพาะในพื้นที่ประเทศไทยพบแล้ว 14 ชนิด
สำหรับที่พื้นที่ปกปักทรัพยากรท้องถิ่นเขาคอหงส์ ม.อ. พบและบันทึกภาพครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2550 เป็นชนิดพิศวงรยางค์ Thismia javanica ซึ่งมีวงกลีบรวมเป็นรยางค์ 3 อันที่ยาวมาก มีการพบเจออีกบ้างไม่บ่อยครั้งหลังจากครั้งแรก แต่ละครั้งจะพบในพื้นที่ขนาดเล็กเพียงไม่กี่ต้น มีการแพร่กระจายในประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี พังงา นครศรีธรรมราช และสงขลา และลงไปถึงประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งมีเกาะชวาเป็นแหล่งที่พบครั้งแรกตามความหมายของคำระบุชนิดในชื่อวิทยาศาสตร์ javanica
การที่ยังสามารถค้นพบพิศวงรยางค์ได้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาดังภาพนี้ บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ปกปักทรัพยากรท้องถิ่นเขาคอหงส์ ม.อ. ที่ยังคงรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าดิบชื้นแบบดั้งเดิมบางส่วนไว้ได้ เนื่องจากเป็นพืชที่อาศัยอยู่ในป่าที่มีความชื้นและร่มเงา ในระดับความสูง 50 – 700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โอกาสพบพิศวงรยางค์จะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน ที่เป็นฤดูกาลออกดอก