ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2559

ต้นอัมพวาหรือมะเปรียง


อัมพวาไม่ใช่ไม้ท้องถื่นของอัมพวา ถิ่นกำเนิดของต้นไม้ขนาดเล็กชนิดนี้นั้นอยู่ในตอนเหนือของมาเลย์และอาจจะคาบเกี่ยวเข้ามาทางใต้มากๆของไทยบ้างครับ ทางใต้เค้าจะเรียกกันว่า นัมนัม และพื้นที่อื่นๆก็ยังมีปรากฏชื่ออื่นๆอย่าง นางอาย หรือ บูรานัม เช่นกัน

อัมพวาหรือมะเปรียงเป็นไม้ต้นขนาดเล็กที่สูงเฉลี่ยอยู่ในช่วง 3-15 เมตรแล้วแต่พื้นที่ เค้าเป็นไม้ที่แตกกิ่งก้านเยอะมาก ยิ่งต้นมีอายุเยอะเท่าไหร่ พุ่มก็ยิ่งแน่นขึ้นเท่านั้น ต้นนี้อายุประมาณ 7 ปีแล้วครับ สูงเกือบๆ 3 เมตร

ต้นอัมพวานี้เป็นต้นไม้ที่ค่อนข้างโตช้าเลย กว่าจะแตกยอดใหม่ๆสีชมพูแดงให้ได้ชื่นใจแต่ละทีก็ต้องรอเป็นช่วงๆ แถมแตกได้ไม่นานก็หลับและพักการเจริญเติบโตอีกแล้ว 

แต่ไม้โตช้าก็มีเสน่ห์ตรงที่เราไม่ต้องตัดแต่งอะไรบ่อยเลย เพราะเค้าไม่มีอะไรให้เราตัด ตัดก็คือฟันทิ้งเลยครับ แหง่ว  นอกจากนี้ อัมพวายังสามารถเติบโตได้ดีในที่ร่มรำไรด้วยครับ แต่ถ้าต้นใหญ่หน่อยก็พอทนแดด

อัมพวา ~ มะเปรียง ~ Cynometra cauliflora
ใบของอัมพวา ที่เราเห็นเหมือน 2 ใบคู่กัน จริงๆนั่นคือ 2 ใบย่อยที่รวมเป็น 1 ใบจริง 
(ในภาพคือ 1 ก้านก็ 1 ใบแท้) ลองคิดง่ายๆว่าเหมือนก้ามปู 1 ก้ามก็มี 2 ง่ามไว้หนีบตรงปลาย แบบนั้นเลยครับ จะได้จำ จะยกต้นที่เด่นๆมาซักต้นมาเปรียบแล้วกันนะครับ ต้นนั้นก็คือ มังคะ ครับ ต้นนี้ก็เป็นไม้ไทยแท้ๆที่หายากอีกต้นหนึ่งเลย ข้อแตกต่างก็คือ แต่ละใบจะมีใบย่อย 4 ใบครับ คือมีใบเล็กๆโผล่มาตรงโคนของแต่ละก้านใบ

เมื่ออายุถึงขั้น ก็จะเริ่มแทงดอก ซึ่งดอกก็อย่างที่เห็นครับว่าโผล่ออกมาจากลำต้นเลย แปลกดีครับ ไม่หอมเลย พอเกสรผสมกันก็จะได้ผล ผลอัมพวานี้ แบนๆ ขรุขระๆ สากๆ กดไม่ค่อยลง โดยรวมแล้วก็เหมือนเกี๊ยวซ่าทอดเกรียมๆ

แต่ถ้าวิชาการๆกันหน่อย เค้าก็จะบอกว่าลักษณะเหมือนไต  เราสามารถรับประทานสดๆตอนสุก หรือว่านำไปแปรรูปก็ได้ ในต่างประเทศก็มีการแช่อิ่ม ทำขนมหวาน แยม ฯลฯ ลูกผลจะมีร่องผ่ากลางแบ่งเป็น 2 พูแบนๆครับ

ดอกอัมพวา ~ มะเปรียง ~ Cynometra cauliflora
หลังจากเริ่มติดฝัก ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนกว่าจะแก่ได้ที่ แต่กว่าจะเริ่มให้ดอกได้จากการเพาะเมล็ด อาจต้องใช้เวลาประมาณ 6 ปี แต่พอได้ออกแล้วก็จะมีมาเรื่อยๆตลอดทั้งปีครับ ดังนั้นถ้าใครจะช่วยอนุรักษ์ต้นไม้ที่ใกล้หายไปจากไทยชนิดนี้ไว้ก็รีบปลูกกันนะครับ ถือว่ามีของแปลกไว้เชยชมที่บ้าน 

ผลอัมพวา ~ มะเปรียง ~ Cynometra cauliflora
ตอนลูกยังเล็กๆอยู่ เค้าก็ออกเป็นโครงร่างแบบลูกที่แก่แล้วครับ คือผิวจะตะปุ่มตะป่ำคล้ายๆมะกรูด เพียงแต่สากมืออยู่เหมือนกัน แถมเป็นสีน้ำตาล เขียวๆ เหลือง ยิ่งไม่ชวนทานเอาเสียเลย หลายๆคนจึงเรียกต้นนี้ว่า ลูกคางคก ครับ ลูกแข็งๆ เราจะดูว่าแก่หรือยังดูจากสีผิวนะครับ คือถ้าลูกใหญ่เริ่มเหลืองๆนิดแล้วเป็นอันว่าใช้ได้ครับ

อัมพวา ~ มะเปรียง ~ Cynometra cauliflora
ลูกแก่ๆที่ว่าคือใหญ่ประมาณอุ้งมือครับ โดยการรับประทานผลสดๆนั้น เราต้องปอกเปลือกสีน้ำตาลๆออกก่อน แล้วเราก็จะพบเนื้อสีขาวๆเหลืองๆ คล้ายๆ Avocado 

เรื่องรสชาติผลต้นอัมพวาให้ฟังนะครับ เมื่อเริ่มเคี้ยว มันจะเหมือนเรากำลังกัดมะม่วงที่กึ่งดิบกึ่งสุกครับ คือไม่แข็งและไม่นุ่มมาก และ เราก็จะพบว่ารสเปรี้ยวปนหวานนิดๆ เมื่อบวกกับกลิ่นแล้ว มันใกล้เคียงกับผลไม้ที่เราคุ้นเคยกันนั่นคือ มะกอก ครับ มะกอกจริงๆ โดยมีกลิ่นเฉพาะตัวและรสเปรี้ยวแบบแปลกๆ แปลกทั้งรูปร่าง แปลกทั้งรสแบบนี้ เลยไม่ค่อยน่าประหลาดใจที่ไม่เป็นที่นิยมปลูกกันนะครับ

ผลอัมพวา ~ มะเปรียง ~ Cynometra cauliflora
เมล็ดใหญ่มาก ผ่าครึ่งลูกให้เห็นกันชัดๆครับว่าใหญ่จริงๆ แทบจะไม่มีเนื้อเลย เมล็ดล้วนๆ น่ากลัวดีครับ เป็นเส้นเลือดขอดหรือเปล่าไม่รู้ ลายแทงเต็มไปหมดเลย 

เมล็ดนี้แหละคือสิ่งที่ไว้กระจายพันธุ์อัมพวาครับ ต้นส่วนใหญ่ที่มีๆกันก็เป็นต้นเพาะเมล็ด ต้นนี้ก็เพาะเมล็ดครับ และอัตราการงอกของเค้าจะไม่สูงเลยถ้าเราไม่รีบปลูก อย่าเก็บไว้นานนะครับ  การขยายพันธุ์อีกอย่างที่พอมีกันก็คือการตอน แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมาก

รายการบล็อกของฉัน