เนระพูสีไทย ดอกไม้ที่เหมือนกับค้างคาวกำลังกระพือปีก ดอกมีกลิ่นสาบ แต่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากมาย
สปีชีส์ของพืช
เนระพูสีไทย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tacca chantrieri) เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุก มีเหง้าหัว เจริญตามแนวราบใต้พื้นดิน ใบรูปหอกแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือเฉียง แผ่นใบสีเขียวเข้มกว่าท้องใบ ก้านใบสีเขียวคล้ำชูขึ้นสูงเหนือพื้นดินยาวประมาณ 1 – 1.5 ฟุต ก้านดอกชูขึ้นมาสูงจากกลางกอ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจุก
ดอกออกแน่น ล้อมรอบด้วยใบประดับรูปไข่ 2 ใบ ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้และตัวเมีย มีสีดำสนิท มีกลีบดอก 2 กลีบ ลักษณะรีรูปทรงกลม รังไข่ใต้วงกลีบดอกด้านในจะเป็นเส้นยาวคล้ายด้ายยื่นห้อยลงมา ดูแล้วคล้ายเส้นด้ายสีดำ หน้าตาดอกเหมือนกับค้างคาวกำลังกระพือปีกในเวลากลางคืน ดอกมีกลิ่นสาบหืน พบขึ้นตามป่าผลัดใบ
ป่าดิบแล้งหรือป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร ออกดอกและติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม พบการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย บังคลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย และ อินโดเนเซีย
ข้อมูลเบื้องต้น เนระพูสีไทย (Bat flower), การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ ...
การเพาะปลูก
ปลูกในดินร่วน ระบายน้ำได้ดี หรือดินที่ผสมทรายบ้างเล็กน้อยจะทำให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี ชอบที่ร่มมีแสงแดดรำไร รดน้ำเช้าและเย็น ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หรือใช้เหง้าปลูก
ประโยชน์
การวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าสารสกัดจากเหง้าของพืชชนิดนี้ สามารถยับยั้งอาการปวดทั้งผ่านกลไกของระบบประสาทรอบนอกและประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีผลการทดสอบยืนยันว่าสารสกัดมีผลสามารถแก้ปวด, ลดไข้ และต้านการอักเสบ ในท้องถิ่นใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรค โดยมีฤทธิ์แก้เบื่อเมา แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
แก้ลิ้นคอเปื่อย แก้ไอ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะ บำรุงร่างกาย แก้โรคความดันต่ำ บำรุงกำลังทางเพศ บำรุงกำลังสตรีระหว่างตั้งครรภ์และแก้ผดผื่นคัน สารสกัดจากเหง้ายังสามารถใช้สำหรับป้องกันแมลงศัตรูพืช โดยสามารถยับยั้งการกินของหนอนใยผักได้