“มะเกลืออรัญ” ไม้ต้นหาสุดหายาก นักวิจัยฯ ค้นพบซ้ำอีกครั้งในรอบเกือบ 90 ปี ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ห่างจากแหล่งท้องที่เดิมที่เคยพบ 600 กิโลเมตร ก่อนหน้านี้เชื่อว่าอาจสูญพันธุ์ไปจากไทยแล้ว
วันที่ 8 เมษายน 2565 นายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) ได้เปิดเผยว่าเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2558 นายประมวล ประสมรอด ที่ปรึกษาโครงการป่าชุมชนเฉลิมพระเกียรติฯ (ทุ่งหนองหลวง) บ้านบางประ หมู่ที่ 5 ต.เคียนซา อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี และคณะทำงาน
ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนที่ร่วมกันปกปักปักษาพื้นที่ป่าชุมน้ำในท้องที่แห่งนี้ ได้นำ นายผดุงศักดิ์ เสือแก้ว นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ และนายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี)
พร้อมด้วยนายพรธวัช เฉลิมวงศ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าไปสำรวจและจำแนกชนิดพรรณไม้ ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ในพื้นที่โครงการฯ และซึ่งมีสภาพสังคมพืชเป็นป่าที่ราบต่ำไม่ไกลจากชายฝั่งแม่น้ำตาปี (คล้าย ๆ ป่าบุ่ง-ป่าทาม ทางภาคอิสาน) พื้นที่ประมาณ 1,700 ไร่ ในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำจากแม่น้ำตาปีที่เอ่อล้นและท่วม ปีละ ประมาณ 5-7 เดือน ในช่วงเดือน กันยายน-กุมภาพันธ์ โดยท่วมสูงสุดถึง ระดับ 2-3 เมตร (ระดับน้ำไม่เท่ากันในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน)
โดยการสำรวจครั้งนี้ได้พบกลุ่มประชากรของไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางชนิดหนึ่ง ชาวบ้านในพื้นที่เรียกกันว่า “ต้นบูน” ซึ่งในเบื้องต้นจำแนกได้ว่าอยู่ในสกุลมะเกลือ (Diospyros L.) ในวงศ์มะพลับหรือมะเกลือ (Ebenaceae) แต่ยังไม่สามารถระบุชนิดที่ชัดเจนได้ และได้ทำการเก็บตัวอย่างใบ ดอกเพศผู้และผลอ่อนไว้ในเบื้องต้น ทำการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการและเทียบเคียงจากตัวอย่างต้นแบบ (type specimens) จากสื่อออนไลน์โดยละเอียด ร่วมกับ ผศ. ดร.สุธีร์ ดวงใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ไม้วงศ์มะเกลือ จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.สมราน สุดดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืช จากหอพรรณไม้ (BKF) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปรากฏว่า พืชชนิดนี้คือ มะเกลืออรัญ (Diospyros bambuseti H.R. Fletcher) ซึ่งตัวอย่างต้นแบบที่เก็บจากป่าไผ่ ใน อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี (ปัจจุบัน จ.สระแก้ว) เมื่อปี ค.ศ. 1930 นั้นมีเพียง ใบและดอกเพศผู้เท่านั้น คณะสำรวจจึงได้คิดเตรียมการตามเก็บตัวอย่างดอกเพศเมียและผลแก่ให้ครบถ้วน เพื่อจัดทำคำบรรยายทางพฤกษศาสตร์ให้กับพืชชนิดนี้โดยสมบูรณ์ และรายงานการค้นพบในท้องที่การกระจายพันธุ์แหล่งใหม่
ต่อมาในเดือนตุลาคม ปี 2561 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก นายพรธวัช เฉลิมวงศ์ และคณะสำรวจ ได้ประสานไปยัง นายพัฒนา วุฒิพงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองทุ่งทอง เพื่อขออนุญาตเข้าไปเก็บตัวอย่างอีกครั้งซึ่งในช่วงเดือนนี้พืชชนิดนี้อยู่ในระยะติดผลแก่ และได้เก็บตัวอย่างใบและผลแก่ไว้ หลังจากนั้น ในกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2563 นายอรุณ สินบำรุง และคณะสำรวจ ได้ตามเก็บดอกเพศเมียในแหล่งเดียวกับการเก็บครั้งแรก ซึ่งครั้งนี้เก็บได้ตัวอย่างดอกเพศเมียที่กำลังบานพอดี ทำให้ได้ตัวอย่างในการนำไปใช้เขียนบรรยายครบทั้งหมด ได้แก่ กิ่ง ใบ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย ผลอ่อน และผลแก่
จึงได้ร่วมกันเขียนคำบรรยายทางพฤกษศาสตร์ให้กับพืชชนิดนี้โดยสมบูรณ์ และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 541(3) หน้า 271-282 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 (2022) ซึ่งเป็นการเขียนตีพิมพ์ร่วมกันโดยบุคลากรจาก 2 หน่วยงาน คือ นายอรุณ สินบำรุง นายผดุงศักดิ์ เสือแก้ว นายพรธวัช เฉลิมวงศ์ และ ดร.สมราน สุดดี จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ ผศ. ดร.สุธีร์ ดวงใจ จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มะเกลืออรัญ (บูน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Diospyros bambuseti H.R.Fletcher) ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงถึง 20 เมตร (ออกดอกได้ตั้งแต่ความสูง 2.5 เมตร) ดอกแยกต้นแยกเพศ โคนต้นมักเป็นร่องหลืบ มีพูพอนเล็กน้อย เปลือกนอกสีเทาอมน้ำตาลเรียบหรือแตกสะเก็ด ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น แผ่นใบรูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ถึงรูปรีแกมรูปขอบขนาน ขนาด กว้าง 1.5–4.2 ซม. ยาว 3.5–11 ซม. ผิวใบด้านบนใบเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายถึงเกือบเกลี้ยง ผลมีขนาดเล็ก กว้าง 0.9–1.4 ซม. ยาว 2.0–2.6 ซม. กลีบจุกผล 3-4 กลีบ ติดทนจนผลแก่ ตัวผลรูปรีถึงรูปรียาว บางครั้งคล้ายผลมะละกอ พบเป็นไม้ชั้นรอง ในป่าที่มีโครงสร้างคล้ายป่าดิบชื้นแต่พื้นล่างเตียนโล่งและมีน้ำท่วมถึงตามฤดูกาล บางครั้งพบตามขอบหนองน้ำ คำระบุชนิด bambuseti มาจากสถานที่เก็บตัวอย่างต้นแบบที่เป็นป่าไผ่ในท้องที่ อ.อรัญประเทศ ส่วน มะเกลืออรัญ เรียกมาจากชื่ออำเภอที่เก็บตัวอย่างต้นแบบว่าจาก อรัญประเทศ
สำหรับการรายงานในครั้งนี้ (2565, เริ่มเก็บตัวอย่าง ปี 2558) นับเป็นการรายงานการค้นพบอีกครั้ง ในระยะเวลาห่างกัน 85 ปี ในท้องที่ใหม่ซึ่งห่างไกลจากแหล่งเดิมกว่า 600 กิโลเมตร ซึ่งนักพฤกษศาสตร์หลายท่านเชื่อว่า พืชชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว หลังจากมีเก็บตัวอย่างครั้งแรก ในปี 1930 (2473) โดย หมอคาร์ (A.F.G. Kerr) นายแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวไอริช ผู้มีคุโณปการต่อวงการพฤกษศาสตร์ไทยอย่างใหญ่หลวง และไม่มีการรายงานการเก็บตัวอย่างอีกเลย (อาจมีการกระจายพันธุ์ในประเทศกัมพูชา แต่ยังไม่มีรายงานการเก็บตัวอย่าง)
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มาพบพืชชนิดนี้ที่บริเวณป่าชุ่มน้ำในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองทุ่งทอง อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ทราบว่าพืชชนิดนี้ยังไม่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
จากการสอบถามจากกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนในพื้นที่ว่า ป่าผืนนี้ช่วยลดความรุนแรงและป้องกันภัยจากน้ำท่วมใหญ่ที่จะเข้าสู่ตัวอำเภอเคียนซาในหลาย ๆ ปี เป็นพื้นที่ชุมน้ำ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำและสัตว์น้ำหลายชนิด และยังมีการค้นพบการกระจายพันธุ์ของพืชที่อาจเรียกได้ว่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง แต่ป่าผืนนี้ก็ยังถูกรบกวนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบุกรุกถือครองพื้นที่เพื่อการเกษตร ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมด้วยช่วยกันคิดวางแผนและสร้างมาตรการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมน้ำผืนนี้ให้อุดมสมบูรณ์และคงอยู่ตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน