เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ของประเทศจีนได้ออกมาประกาศการค้นพบฟอสซิลผืนป่าโบราณอายุกว่า 419 ล้านปี โดยเผยแพร่ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์
Current Biology
Current Biology
ฟอสซิลผืนป่าที่ถูกพบในครั้งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านซินหาง ของมณฑลอานฮุย โดยเป็นป่าจากยุคดีโวเนียน ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ที่ไม่มีกิ่งรูปร่างคล้ายปาล์มที่ชื่อ “Lycopsid” และกินพื้นที่พอๆ กับสนามฟุตบอล 35 สนามต่อกัน(ราวๆ 250,000 ตารางเมตร)
ภาพจำลองป่าซินหางในอดีตจากข้อมูลที่มีอ้างอิงจากข้อมูล
ในรายงาน ร่องรอยของผืนป่าแห่งนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในเหมืองดินเหนียวใกล้หมู่บ้าน โดยอยู่ในสภาพของซากดึกดำบรรพ์ที่ปรากฏให้เห็นในผนังของเหมือง
และเมื่อทำการขุดออกมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็พบกับโครงสร้างของลำต้นของต้นไม้และซากดึกดำบรรพ์ที่เหมือนลูกสนซึ่งมาทราบในภายหลังว่าเป็นของต้น Lycopsid นั่นเอง
หนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกพบ
“ความหนาแน่นที่สูงและขนาดต้นไม้ที่เล็กของป่าแห่งนี้ ทำให้ป่าซินหางมีความคล้ายกับทุ่งอ้อยมาก แม้ว่าพืชในป่าซินหางจะกระจายเป็นหย่อมๆ ก็ตาม” คุณ Deming Wang หนึ่งในผู้ทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบป่ากล่าว
คุณ Wang กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ป่าซินหางนั้นอาจเป็นไปได้ว่าในอดีตจะมีสภาพคล้ายป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งเช่นกัน เนื่องจากป่าแห่งนี้ตั้งถูกในสภาพแวดล้อมที่คล้ายกันและยังมีบทบาทต่อระบบนิเวศที่เหมือนกันอีกด้วย
ป่าในลักษณะนี้ จนถึงปัจจุบันถูกพบอยู่เพียงแค่ 3 แห่งทั่วโลกเท่านั้น โดยอีกสองแห่งที่เหลือตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และประเทศนอร์เวย์ และนับว่าเป็นป่าที่มีความสำคัญในการศึกษาระบบนิเวศโบราณมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกเลย
โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการตรวจสอบป่าที่ถูกค้นพบ จะทำให้พวกเขาได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลที่ว่า ทำไมปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของยุคดีโวเนียนถึงลดลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้เราทราบถึงเหตุผลของการเกิดยุคน้ำแข็งคะรูต่อไป