ต้นนางเลว |
ต้นนางเลว ไม่ได้เลวอย่างชื่อ คุณสมบัติเด่น กิ่งสดๆ ติดไฟได้
ฉันคิดว่าชื่อนั้นไม่ได้บ่งบอกพฤติกรรมเสมอไป อย่าคิดว่าฉันจะเลวเหมือนชื่อ เพราะชื่อนั้นไม่สำคัญพอที่จะบอกว่า ฉันไม่ดี ยังมีคนที่ชอบฉัน แล้ว เรียกว่า “สะบันงาดง” ก็มี เพราะฉันอยู่ในวงศ์กระดังงา แม้ว่าฉันจะเป็นต้นไม้สูงใหญ่อายุยืน แต่ฉันก็ไม่ชอบผลัดใบ เพียงว่าในช่วงอายุน้อยๆ ฉันชอบโตกลางแจ้ง แต่ชอบอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เปลือก ผิว ของฉันหนา สีน้ำตาลเข้ม กลิ่นฉุน จึงเก็บตัวไม่อยากเจอใคร (เป็นพืชพบหายาก)
น้อยใจนัก ที่บางคน (เมืองจันทน์) เรียกฉันว่า “อีเลว”
ชื่ออื่น กล้วย (ชัยภูมิ) เต็งหิน (ชุมพร) สะบันงาดง สาแหรก (ลำปาง นครสวรรค์) แสลง (พิษณุโลก) อีเลว (จันทบุรี)
นางเลวเป็นไม้ต้น สูง 10–40 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ แตกกิ่งขนานพื้นดิน เปลือกต้นหนาสีน้ำตาลเข้ม กลิ่นฉุน โคนต้นเป็นพูตามยาว
*ใบ เดี่ยว เรียงสลับสองข้างกิ่งในระนาบเดียวกัน แผ่นใบรูปรี กว้าง 7–10 ซม. ยาว 15–25 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม เส้นแขนงใบ 12 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 1 ซม.
*ดอก ออกเป็นกระจุก 2–3 ดอก ตรงข้ามใบ ก้านดอกยาวประมาณ 0.5 ซม. กลีบดอกสีเหลืองอมเขียว 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้นๆ ละ 3 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 1.5–2 ซม. ผล รูปทรงกระบอก เปลือกหนาแข็ง ผิวเรียบ กว้างประมาณ 3 ซม. ยาว 5–6 ซม.
*ผลสุกสีม่วงแดง มี 10 เมล็ด เรียงเป็น 2 แถว เมล็ดรูปกลมแบน ตรงขอบเป็นรอยเว้า
นางเลวมีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้น ทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 10–200 ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์–มีนาคม ผลแก่เดือนกุมภาพันธ์–มีนาคม ของปีถัดไป