ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

มัลเบอร์รี่(ลูกหม่อน)


มัลเบอร์รี่(ลูกหม่อน)
มัลเบอร์รี่ (ลูกหม่อน) อบแห้ง มีประโยชน์มากกว่าที่คิด
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่กำลังเป็นที่นิยมนำมาบริโภคมากในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มคนรักสุขภาพที่ต้องการบริโภคผลไม้ที่ให้ประโยชน์ต่อสมองและร่างกาย ถ้ากล่าวถึงผลไม้ตระกูลเบอร์รี่แล้วนั้น คงหนีไม่พ้นตระกูลเบอร์รี่จากต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าหลายร้อยล้านบาทต่อปี แต่หากลองหันกลับมามองผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่เป็นของไทย หลายๆ คนคงพอจะคิดออก นั่นคือ ”ผลหม่อน” หรือ “มัลเบอร์รี่” ซึ่งพบว่า ผลหม่อนมีกรดโฟลิกสูงกว่าบลูเบอร์รี่ถึง 1-2 เท่า ไม่แพ้ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่อื่นๆ เลย

“หม่อน” หรือ “มัลเบอร์รี” (Mulberry) ภาคอีสานเรียกว่า “มอน” ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ซิวเอียะ” เป็นพืชอาหารตามธรรมชาติชนิดเดียวของหนอนไหม และเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปริมาณผลผลิตและคุณภาพรังไหมจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคุณภาพใบหม่อน หม่อนเป็นพืชที่มีอายุนาน 80-100 ปี ถ้าไม่ได้รับความกระทบกระเทือน จากการเก็บเกี่ยวหรือโรค แมลงศัตรู สามารถเจริญได้ดีตั้งแต่เขตอบอุ่นถึงเขตร้อน หม่อนที่เกิดในเขตอากาศหนาว จะหยุดพักไม่เจริญเติบโต นับตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ร่วงจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ผลหม่อนสามารถรับประทานได้


หม่อนเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบเดี่ยวออกสลับ ดอกเป็นดอกช่อ ทรงกระบอก กลีบดอกสีขาวหม่น ผลเป็นช่อทรงกระบอก

“ผลหม่อน” หรือ ”Mulberry” การใช้ประโยชน์จากผลหม่อนนั้นหลากหลายมากมายไม่น้อยไปกว่าส่วนอื่น ๆ ของต้นหม่อนเองเลย ผลหม่อนสุกให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีสรรพคุณใช้รักษาโรคไขข้อ บำรุงหัวใจ บำรุงผมให้ ดกดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชีย ชาวจีนเรียกผลหม่อนว่า sangshen ในหนังสือ modern Chinese Materia Medica ให้สมญานามผลหม่อนว่าเป็น Blood tonic นั่นย่อมแสดงถึงความสำคัญในด้านบำรุงเลือดตามคติความเชื่อของชาวจีนได้เป็นอย่างดี แพทย์ชาวจีนในสมัยราชวงศ์หมิง ชื่อ เลี่ยงฮียัง ได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ของการรับประทานผลหม่อนสุกไว้ว่า “ทำให้ตับไม่มีไฟ หัวใจคลายความร้อนรุ่ม เส้นประสาทตาดี สายตาก็แจ่มใส ร่างกายก็สุขสบาย” ส่วนด้านของแพทย์แผนจีนนั้นแนะนำให้ใช้ผลหม่อนสุกในการรักษาสมดุลของพลังหยิน ป้องกันผมหงอกก่อนวัย โดยใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ส่วนในทวีปยุโรป ออสเตรเลียและอเมริกาเหนือ นิยมปลูกต้นหม่อนไว้ตามสนามหญ้าหน้าบ้านหรือหลังบ้านเพียง 2-3 ต้น เพราะนอกจากจะเป็นไม้ประดับแล้ว ยังให้ผลไว้รับประทานในครอบครัวอีกด้วย


กรมหม่อนไหมจึงได้ศึกษาวิจัย ผลหม่อน หรือ มัลเบอร์รี่ ซึ่งพบว่า ผลหม่อนมีกรดโฟลิกสูงกว่าบลูเบอร์รี่ถึง 1-2 เท่า และยังมีสารกลุ่มโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเจริญเต็มที่เซลล์ประสาทไขสันหลังและเซลล์สมองเจริญเป็นปกติ กระแสเลือดหมุนเวียนดี และหลอดเลือดแข็งแรง รวมถึงลดอาการแพ้ต่างๆ และช่วยยืดอายุเม็ดเลือดขาวอีกด้วย

ผลหม่อนสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้หลายชนิด เช่น น้ำหม่อนพร้อมดื่ม น้ำหม่อนสกัด น้ำหม่อนเข้มข้น แยมหม่อน และท้อปปิ้งหม่อน ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตในเชิงพาณิชย์มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาสำคัญที่จะต้องดำเนินการแก้ไข คือ ผลหม่อนเน่าเสียเร็ว เนื่องจากมีผิวบาง ซึ่งในอนาคตหากสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ คาดว่าแนวโน้มการปลูกและการบริโภคผลหม่อนจะขยายตัวสูงขึ้น และมีศักยภาพที่จะใช้ทดแทนการนำเข้าผลไม้ตระกูลเบอร์รี่จากต่างประเทศได้
อีกทั้งหม่อนเป็นผลไม้ที่ไม่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรค แมลง จึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง ผลิตภัณฑ์มัลเบอร์รี่หรือผลหม่อนจึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นทางเลือกใหม่ที่มีผลดีต่อสุขภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

นอกจากนี้จากการทำวิจัยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า ผลหม่อนสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัคร สำหรับการดำเนินงานด้านการส่งเสริมเกษตรกร กรมหม่อนไหมดำเนินการส่งเสริมการปลูกหม่อนแก่เกษตรกรทั้งการปลูกเพื่อจำหน่ายผลสด รวมไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ประชาชนปลูกหม่อนเป็นผลไม้ประจำบ้าน



รายการบล็อกของฉัน