ชาวบ้านตื่นตะลึงจนตาเหลือก!!!!! ต้นบุกคางคกออกดอกคล้ายพระพุทธรูป
ชาวบ้านกำแพงเพชรฮือฮาดอกไม้ประหลาดคล้ายพระพุทธรูป แห่เดินขบวนนำพวงมาลัย ธูปเทียน
ไปกราบไหว้บูชาขอเลขเด็ดจาก"เจ้าพ่อบุกคางคก"
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดกำแพงเพชรได้รับแจ้งจากนางวารี ฤทธิ์อำไพ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน ว่าพบดอกไม้ประหลาดที่บ้านใหม่ศรีสุวรรณ์ หมู่ 25 ตำบลคลองน้ำไหล จึงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงพบชาวบ้านที่ทราบข่าวต่างมามุงดูดอกไม้ประหลาดด้วยความสนใจ โดยมีพวงมาลัยและธูปปักอยู่เป็นจำนวนมาก
นางเฉลา ชาววังฆ้อง อายุ 50 ปี เผยว่า ตนมีอาชีพทำไร่ทำนา โดยบ้านดังกล่าวเป็นของนางแดง ชาววังฆ้อง มารดาของตน อายุ 78 ปี ส่วนดอกไม้ลักษณะประหลาดที่เห็นเกิดจากต้นบุกคางคกที่อยู่บนเขาที่ชาวบ้านนำไปแกงหรือต้มกินได้ ซึ่งได้มีการนำมาปลูกไว้ใกล้บ่อน้ำข้างบ้านหลายปีแล้ว ซึ่งปกติจะออกดอกเหมือนต้นบุกทั่วไป แต่เมื่อ 2-3 วันก่อน ต้นบุกคางคกเพิ่งจะออกดอกมาและพบว่ามีรูปร่างประหลาดคล้ายพระพุทธรูป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับดอกไม้ประหลาดนี้งอกเพิ่มจากส่วนลำต้นบุกคางคกสูงจากพื้นดินประมาณ 40 ซม. ส่วนล่างเป็นลำต้นสีเขียว ลักษณะบานออกเป็นพานพุ่มสีม่วงเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 ซม. ซ้อนด้วยช่อสีเหลืองอ่อน โดยมีพุ่มคล้ายกับพระพุทธรูปสีม่วงเข้มอยู่ด้านบนสุด ซึ่งนับว่าแปลกประหลาดแต่สวยงามมากซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน ส่วนชาวบ้านที่มาดูความแปลกประหลาดต่างวิพากษณ์วิจารณ์พร้อมกับนำพวงมาลัย และธูปมากราบไหว้บูชาขอโชคลาภตามธรรมเนียม
บุกคางคก หรือ STANLEY" S WATER-AMORPHOPHALLUS CAM-PANULATUS BL. EX DECNE อยู่ในวงศ์ ARACEAE เป็นไม้ล้มลุก งอกงามดีในช่วงฤดูฝนและตายในต้นฤดูหนาว แต่จะมีหัวฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อมีฝนตกลงมาจะงอกงามขึ้นอีกเป็นวัฏจักรทุกๆปี ก้านใบยาวได้ 150-180 ซม. อวบน้ำ ใบกางออกคล้ายร่ม ก้านใบมีลายสีเขียวและน้ำตาล ดอกสีแดง "ผล" เนื้อนุ่ม สีแดง ขยายพันธุ์ด้วยหัว มีชื่อเรียก ตามท้องถิ่นอีกเยอะ เช่น มันชูรัน บุกบ้าน และอีลอก เป็นต้น
บุกคางคก จัดเป็นพืชโบราณชนิดหนึ่งที่พบขึ้นทุกภาคของประเทศไทย โดยในทางอาหารชาวชนบทสมัยก่อนนิยมเอาต้นอ่อนปอกเปลือกออก และใบอ่อนปรุงเป็นอาหารคล้ายๆ กับบอน ส่วนใหญ่ทำแกงส้ม แกงเลียง และทำห่อหมก รสชาติอร่อยมาก แต่ก่อนนำไปปรุงเป็นอาหารจะต้องเอาไปต้มก่อน โดยใส่ลงไปตอนที่น้ำกำลังเดือดเพื่อให้หมดพิษคล้ายกับหัวกลอยจะได้ไม่มีอาการคันเมื่อปรุงเป็นอาหารรับประทาน ปัจจุบันไม่นิยมรับประทานกันแล้ว เนื่องจากมีขั้นตอนก่อนปรุงอาหารยุ่งยากเกินไป
ในทางสมุนไพร ตำรายาแผนไทยระบุว่า หัวมีสารจำพวกแป้งชนิด GLUCOMANNAN ซึ่งมีปริมาณและชนิดแตกต่างกันไป แล้วแต่ ชนิดของบุก หรือ "บุกคางคก" พบว่าสามารถลดระดับ "คอเลสเทอรอล" ในสัตว์ทดลอง และ ใช้กับผู้ป่วย "โรคเบาหวาน" เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า สารสกัด "แอลกอฮอล์" จากหัวสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ "วัณโรค" ในหลอดแก้วด้วย ตำรายาพื้นบ้าน หัว ใช้กัดเสมหะ กัดเถาดานและเลือดก้อน หรือใช้หุงเป็นน้ำมันใส่บาดแผลกัดฝ้ากัดหนองได้