พบ “กัญชา” ถูกฝังพร้อมร่างชายวัยกลางคนเมื่อ 2,500 ปีก่อน ในประเทศจีน
นักโบราณคดีพบโครงกระดูกโบราณของชายวัยกลางคนพร้อม “กัญชา” ยาเสพติดที่กำลังได้รับการขยายการเข้าถึงอย่างถูกกฎหมายในหลายประเทศ ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญที่จะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจบทบาทของพืชชนิดนี้ในกลุ่มวัฒนธรรมยูเรเชียโบราณมากยิ่งขึ้น
โครงกระดูกที่พบเป็นของชายอายุราว 35 ปี (หากเทียบจากตัวเลขอายุเฉลี่ยของชายทั่วโลกขององค์การสหประชาชาติในปี 2012 ซึ่งอยู่ที่ 68.2 ปี ชายผู้นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นชายวัยกลางคน) มีลักษณะแบบชาวคอเคเซียน พร้อมกับต้นกัญชาอีก 13 ต้น ซึ่งมีความยาวเกือบสามฟุตวางบนหน้าอกของเขา โดยหลุมศพที่ฝังร่างของชายผู้นี้อยู่ในแอ่งตูร์ฟาน (Turpan Basin) ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งจากการตรวจสอบหลุมศพจากรังสีคาร์บอนคาดว่าจะมีอายุราว 2,400-2,800 ปี
รายงานของ National Geographic ระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ช่วยเพิ่มน้ำหนักในหลักฐานทางโบราณคดีที่ชี้ว่า กัญชาเป็นที่นิยมมากๆ ในแถบทุ่งหญ้าสเตปป์ของยูเรเชีย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีการพบกัญชาพร้อมกับร่างผู้ตายในยุคใกล้เคียงกับที่พบในครั้งนี้มาแล้ว โดยครั้งหนึ่งเคยพบเมล็ดกัญชาและผงใบกัญชามีนำ้หนักรวมกันมากเกือบ 1 กิโลกรัมในไซบีเรียใต้ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของตูร์ฟาน เคยพบหลุมศพหญิงชาวซิเธียนในยุคสหัสวรรษแรกก่อนคริสต์กาล (ราว 3000 ปีก่อน) พร้อมกับเมล็ดกัญชาจำนวนหนึ่ง ซึ่งหญิงรายนี้ถูกพบว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมด้วย นักโบราณคดีจึงคาดกันว่า เธออาจใช้กัญชาในการบรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง
นักโบราณคดีจีน กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการพบต้นกัญชาที่มีความสมบูรณ์ และยังเป็นครั้งแรกที่มีการพบว่า ต้นกัญชาถูกนำมาใช้ในการปกคลุมร่างของผู้ตายในพิธีฝังศพด้วย
National Geographic ระบุว่า กัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์หลายประการนอกเหนือไปจากฤทธิ์ที่ส่งผลต่อระบบประสาทแล้ว เส้นใยของมันยังแข็งแรงพอที่จะใช้ถักทอเป็นเสื้อผ้า และเมล็ดก็ยังเป็นแหล่งน้ำมันที่มีคุณค่าทางอาหาร ทำให้นักโบราณคดีพยายามหาคำตอบว่า มนุษย์โบราณจะใช้พืชชนิดนี้เพื่อประโยชน์ประการใดบ้าง